น้ำมันงาม่อนคืออะไร?
น้ำมันงาขี้ม่อน น้ำมันงาขี้ม้อน น้ำมันงาม่อน หรือน้ำมันงาม้อน (ในบทความนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่า “งาขี้ม่อน” นะครับ) เป็นชื่อเรียกของน้ำมันชนิดหนึ่งที่สกัดจากเมล็ดพืชที่มีชื่อว่า “งาขี้ม่อน” ที่เป็นพืชตระกูลเดียวกับสะระแหน่หรือมิ้นต์ เมล็ดงาขี้ม่อนมีส่วนประกอบของน้ำมัน 38-45% ของน้ำหนักเมล็ด ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำมันค่อนข้างสูง การสกัดน้ำมันจึงนิยมสกัดจากเมล็ดเป็นหลัก น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงาขี้ม่อน จะมีสีเหลืองทอง มีกลิ่นหอมและมีรสชาติเฉพาะตัว ดังนั้น หากใครเคยได้ทดลองทานน้ำมันงาขี้ม่อนแล้วครั้งแรก ถ้ามีโอกาสได้ทานครั้งต่อๆไปจะจำกลิ่นและรสชาติได้อย่างแน่นอน
น้ำมันงาขี้ม่อนสกัดอย่างไร?
การสกัดน้ำมันงาขี้ม่อนทั่วไปที่เราทำกันคือ การบดหรือการบีบ เพื่อให้น้ำมันไหลออกจากเมล็ด โดยมีกรรมวิธีบดหรือบีบที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับเครื่องจักรที่ใช้ โดยมากในประเทศไทยการสกัดน้ำมันงาขี้ม่อนจะมีอยู่ 2 วิธี คือ
การบดโดยใช้สกรู (Screw Press)
เครื่องสกัดน้ำมันโดยใช้สกรู ประกอบไปด้วยสกรูที่มีลักษณะเป็นเกลียว สอดเข้าไปในตัวรับ เพื่อทำหน้าที่บดเมล็ดพืชให้ละเอียดและสกัดน้ำมันออกมา ท่านใดเคยเห็นเครื่องบดแบบทั่วๆไปก็อาจจะร้องอ๋อ เพราะทำงานในลักษณะเดียวกันครับ
ข้อดีของการบดด้วยสกรู คือ เครื่องจักรไม่ซับซ้อนและง่ายต่อการสกัดน้ำมัน แต่จะมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือ การบดมักจะทำให้เกิดความร้อนสูง หากตั้งเครื่องสกัดน้ำมันให้สกรูและตัวรับมีช่องว่างน้อยเกินไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคุณค่าทางอาหารของน้ำมันที่ได้ เพราะน้ำมันงาขี้ม่อนมีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ตัวกรดไขมันไม่อิ่มตัวทำปฏิกิริยากับความร้อนได้ง่าย ส่งผลให้น้ำมันสูญเสียคุณค่าทางอาหารและเสื่อมคุณภาพลงได้
การบีบโดยใช้ระบบไฮโดรลิก (Hydraulic press)
เครื่องสกัดน้ำมันที่ใช้ระบบไฮโดรลิก จะใช้หลักการบีบหรือคั้นเมล็ดพืชเพื่อสกัดน้ำมัน ท่านลองนึกถึงภาพเวลาเราใช้เครื่องคั้นน้ำสัมแบบบีบ ที่ต้องวางส้มเข้าไปที่เบ้ารับ จากนั้นก็ใช้แรงกดลงที่ก้านบีบ ทำให้น้ำส้มไหลออกมา ซึ่งเป็นหลักการเดียวกัน
ข้อดีของการสกัดน้ำมันด้วยการบีบหรือใช้ระบบไฮโดรลิก คือ ความร้อนในกระบวนการบีบเมล็ดพืชเพื่อสกัดน้ำมันมีค่อนข้างน้อย ทำให้น้ำมันที่ได้ค่อนข้างที่จะมีคุณค่าทางอาหารสูงหรือมีคุณภาพค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับการสกัดน้ำมันโดยใช้สกรู แต่จะมีข้อเสียคือ ปริมาณน้ำมันที่ได้อาจจะน้อยกว่าการบดด้วยสกรู ถ้าเปรียบเทียบโดยใช้วัตถุดิบน้ำหนักเท่ากัน เช่น
เมล็ดงาม้อน 1 กิโลกรัม ใช้วิธีสกัดน้ำมันแบบบดโดยใช้สกรู จะได้น้ำมัน 400 กรัม
เมล็ดงาม้อน 1 กิโลกรัม ใช้วิธีสกัดน้ำมันแบบบีบโดยใช้ไฮโดรลิก จะได้น้ำมัน 300 กรัม
ตัวเลขที่แสดงเป็นเพียงค่าสมมุติเพื่ออธิบายให้เกิดความเข้าใจเท่านั้น
น้ำมันงาขี้ม่อนมีจุดเด่นอะไรบ้าง?
เมล็ดงาม่อน (Perilla frutescens) เป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) เมล็ดงาม้อนเป็นรูปทรงกลม มีน้ำหนักประมาณ 4 กรัมต่อหนึ่งพันเมล็ด มีน้ำมันอยู่ประมาณ 35-45% ใบของงาม้อนมีน้ำมันค่อนข้างน้อย คือ 0.2% จึงอาจกล่าวได้ว่าแหล่งน้ำมันที่สำคัญสกัดได้จากเมล็ดเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่น น้ำมันงาม้อนจัดได้ว่าเป็นน้ำมันที่มีสัดส่วนของปริมาณโอเมก้า 3 (ALA omega 3) สูงที่สุด โดยมีถึง 54-64% โอเมก้า 6 (linoleic acids) จะมีอยู่ประมาณ 14% และมีโอเมก้า 9 รวมอยู่ด้วย
กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง มีประโยชน์มากที่สุดต่อสุขภาพของคนเรา และมีประโยชน์ในการป้องกันโรคชนิดต่างๆ เช่น โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ โรคมะเร็ง การอักเสบ และรูมาตอยด์ เป็นต้น
ความสำคัญของกรดไขมัน
น้ำมันพืชมีอยู่หลายชนิดมากๆตามท้องตลาดอย่างที่พวกเราทราบกัน น้ำมันที่มีความสมดุลของโอเมก้า 3 6 9 และมีปริมาณของโอเมก้า 3 สูง เป็นน้ำมันที่เราควรบริโภคมากที่สุด น้ำมันพืชส่วนมากจะเป็นน้ำมันที่ไม่มีความสมดุลของโอเมก้า 3 และ 6 กล่าวคือ มีปริมาณของโอเมก้า 6 สูงมากแต่มีปริมาณของโอเมก้า 3 ต่ำหรือแทบจะไม่มีเลย ส่วนโอเมก้า 9 ถ้ามีในน้ำมันก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะร่างกายสามารถสร้างโอเมก้า 9 ได้ด้วยตัวของมันเอง สมดุลของน้ำมันจึงพิจารณาจากสัดส่วนของโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เป็นหลัก
กรดไขมันโอเมก้า 6 ส่วนมากคือ กรดไลโนเลอิค กรดไขมันโอเมก้า 6 แม้จะมีประโยชน์ในหลายแง่มุม แต่ถ้าร่างกายของเราได้รับในปริมาณที่มากเกินไปย่อมส่งผลให้เกิดการอักเสบ (inflammation) และเพิ่มการจับตัวของลิ่มเลือด (blood clotting) ในขณะที่กรดไขมันโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยให้ระบบหลอดเลือดและหัวใจทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
สมดุลของโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 กุญแจสู่ระบบภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์
ปัญหาสุขภาพหลายอย่างขึ้นอยู่กับความสมดุลของกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ที่เราบริโภคเข้าไป ในขณะที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและการแข็งตัวของเลือด โอเมก้า 6 ที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และระบบภูมิคุ้มกันไวเกินไป เชื่อว่าคนสมัยโบราณหรือบรรพบุรุษของเราบริโภคโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 อย่างสมดุลในอัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง (บริโภคโอเมก้า 3 และโอเมก้่า 6 เท่าๆกัน) อย่างไรก็ตาม อาหารในยุคปัจจุบันที่มีปริมาณโอเมก้า 6 เป็น 20 เท่าของโอเมก้า 3 โรคเสื่อมที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เราในยุคนี้ถูกเชือว่ามีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารที่มีสัดส่วนของโอเมก้า 6 และโอเมก้า 3 ไม่สมดุลหรือบริโภคโอเมก้า 6 เยอะเกินไป สัดส่วนของที่สมดุลของโอเมก้า 6 ต่อโอเมก้า 3 คือ 1:1 ถึง 4:1
น้ำมันงาขี้ม่อนมีประโยชน์และสรรพคุณอะไรบ้าง?
ประโยชน์ต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ
โรคหัวใจเป็นโรคทั่วไปที่คนเป็นกันมากที่สุดโรคหนึ่ง เพราะพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าการบริโภคที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง EPA และ DHA ที่พบในน้ำมันปลาหรือ ALA ที่ผ่านการเผาผลาญแล้ว (Perilla oil) มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคหัวใจ
กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด ALA สามารถที่จะเปลี่ยนเป็น EPA และ DHA ได้โดยใช้กระบวนการเผาผลาญของร่างกายที่อัตรา 7-10% มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำมันงาม้อนทดแทนน้ำมันถั่วเหลือง ช่วยให้กลุ่มตัวอย่างมีระดับโอเมก้า 3 ในเลือดสูงขึ้น และนำไปสู่การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและลดภาวะเลือดหนืดหรืออาการลิ่มเลือดแข็งตัว
โอเมก้า 6 ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวหรือระบบภูมิคุ้มกันไวกว่าปกติ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ มีผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น ทำให้เกิดอาการอักเสบในร่างกายที่มากขึ้นนั่นเอง
โอเมก้า 6 ทำให้เลือดหนืดหรือมีการจับตัวกันเป็นก้อนหรือเรียกว่า การเกิดลิ่มเลือด ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นในเส้นเลือดหัวใจก็ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือถ้าเกิดที่เส้นเลือดสมองก็อาจะทำให้เกิดภาวะอัมพาต เพราะเลือดไม่สามารถไหลผ่านอวัยวะได้
ประโยชน์ในการต้านการอักเสบในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์
โอเมก้า 3 จากน้ำมันงาม้อน ที่ผ่านการเผาผลาญจนอยู่ในรูป EPA และ DHA แล้วมีประสิทธิภาพในการระงับยับยั้งเอนไซม์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ซึ่งการรักษาคนไข้รูมาตอยด์ที่มีอาการดื้อยาในแผนปัจจุบันก็ใช้วิธีนี้แต่ใช้ยาเป็นตัวยับยั้งแทน
การใช้น้ำมันงาม้อนลดการอักเสบและแก้ปวดในผู้ป่วยรูมาตอยด์ ช่วยลดการพึ่งยาแก้ปวดประเภท NSAID ที่มีผลข้างเคียง โดยจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะเลือดออกในลำไส้ส่วนบนและผลข้างเคียงอื่นๆ
ประโยชน์ต่อโรคภูมิแพ้
มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าน้ำมันงาม้อนมีประสิทธิภาพในการระงับยับยั้งสารที่เป็นสื่อการเกิดโรคภูมิแพ้ เริ่มมีการทดลองในหนูพบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของปอดดีขึ้น ระบบการหายใจดีขึ้น น้ำมันงาม้อนจึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยารักษาโรคหอบหืดได้
ต่อมามีการทดลองในคน พบว่ากรดโรสแมรินิคที่เป็นสารสำคัญที่มีในน้ำมันงาม้อน มีผลต่อเอนไซม์ที่เกียวข้องกับการทำให้เกิดภูมิแพ้และช่วยลดอาการภูมิแพ้ได้จริงจากการทดลองทางคลินิคเบื้องต้น (ทดลองทางคลินิค = ทดลองกับคน)
ประโยชน์ต่อสมอง
มีการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้และพฤติกรรมโดยใช้กรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 โอเมก้า 3 มีประสิทธิภาพในการป้องกันระบบประสาทในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (เหมือนกับที่ทำในผู้ป่วยอัลไซเมอร์) กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับโอเมก้า 3 ในปริมาณที่มากพอสามารถป้องกันภาวะสารโดปามีนในสมองลดลงได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งโรคพาร์กินสันเกิดจากระบบการสร้างสารโดปามีนถูกขัดขวางทำให้ไม่สามารถสร้างสารนี้ได้เป็นปกติ จากการทดลองนี้จึงสรุปได้ว่า โอเมก้า 3 สามารถนำไปวิจัยและพัฒนาต่อในการป้องกันโรคพาร์กินสันได้
ประโยชน์อื่นๆ
นอกจากงาม้อนจะมีโอเมก้า 3 ชนิด ALA สูงแล้ว ยังเป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์ของสารประกอบฟีนอลิค เช่น ฟลาโวนอยด์ แอนโธไซยานิน ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ กรดโรสแมรินิค ลูทีโอลิน chrysoeriol, quercetin, catcehin and apigenin เป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีปริมาณเพียงเล็กในน้ำมันงาม้อน
สารต้านอนุมูลอิสระในงาม้อนรวมกับกรดไขมันโอเมก้า 3 มีประโยชน์ต่อโรคภูมิแพ้ การต้านเชื้อแบคทีเรีย การป้องกันโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ การป้องกันโรคมะเร็ง
นักวิจัยได้ทำการสำรวจทางประชากรที่บริโภคโอเมก้า 3 (ALA) ในปริมาณสูง พบว่าช่วยลดอัตราการตายที่เกิดจากโรคหลอดเลือดและหัวใจให้น้อยลงได้ น้ำมันงาม้อนเป็นน้ำมันที่มกรดไขมันโอเมก้า 3 (ALA) สูงมาก งานวิจัยนี้จึงแสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำมันงาม้อนเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบหลอดเลือดและหัวใจได้
ยังมีการศึกษาหรืองานวิจัยอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 มีประโยชน์ต่อการรักษามะเร็ง ลดการอักเสบ โรคโครห์น โรคข้ออักเสบและปัญหาผิวพรรณชนิดต่างๆ
ฤทธิ์ในการต้านอักเสบของน้ำมันงาม้อนมีประสิทธิภาพในการลดผลข้างเคียงของยากดภูมิคุ้มกัน (ยาไซโคลสปอริน) ซึ่งมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงและมีความเป็นพิษต่อไต โดยการระงับยับยั้งหรือป้องกันการสร้างเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ วิธีการป้องกันการสร้างเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการอักเสบเป็นวิธีแพทย์แผนปัจจุบันใช้ในการรักษาโรคหอบหืด โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคพุ่มพวง (โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และโรคสะเก็ดเงิน
น้ำมันงาม้อนใช้เพื่อเพิ่มรสชาติอาหารจานอร่อยของท่านได้ เช่น ผสมในน้ำสลัด ผสมในน้ำจิ้ม ผสมในโยเกิร์ต เครื่องดื่มหรือในอาหารชนิดอื่นๆ คนที่ชอบกลิ่นและรสชาติของน้ำมันงาม้อนอาจผสมน้ำมันงาม้อนในอาหารปริมาณถึง 1 ช้อนโต๊ะ เพื่อสุขภาพที่ดีแนะนำให้รับประทานน้ำมันงาม้อนสกัดเย็นเป็นประจำวันละ 3 กรัมหรือวันละ 6 แคปซูลเจล (1 แคปซูลเจล = 500 มิลลิกรัม)
ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำมันงาม้อน
การบริโภคน้ำมันงาม้อน แม้จะมีประโยชน์มหาศาลต่อสุขภาพแต่ก็มีข้อควรระวังดังต่อไปนี้
ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ต้องทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพรินหรือวาฟาริน บริโภคน้ำมันงาม้อนได้ต่อวันไม่ควรเกิน 3 กรัม
การบริโภคน้ำมันงาม้อนมากเกินไป (มากกว่าปกติมากๆ) มีโอกาสทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตกได้
ผู้ที่มีปัญหาเบาหวานหากบริโภคมากเกินไป อาจทำให้ลดการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
งานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับงาม้อน
งานวิจัยงาม้อนจนถึงปัจจุบันมีอยู่หลายสิบงานวิจัย มีการวิจัยทั้งในคน สัตว์และในจานทดลอง ซึ่งมีงานวิจัยที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ผลของการบริโภคน้ำมันงาม้อนต่อการสร้างสารกระตุ้นโรคหอบหืดและระดับไขมัน
กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหอบหืด แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคน้ำงาม้อน กลุ่มที่สองไม่ได้บริโภคน้ำมันงาม้อน โดยมีการตรวจสอบการสร้างสารกระตุ้นโรคหอบหืดและระดับไขมันก่อนการทดลอง หลังทดลอง 2 สัปดาห์และ 4 สัปดาห์ตามลำดับ
ผลการทดลองที่ได้ คือ กลุ่มที่บริโภคน้ำมันงาม้อนสามารถลดการสร้างสารกระตุ้นโรคหอบหืดได้อย่างมีนัยสำคัญภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ตรงข้ามกลับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคน้ำมันงาม้อนที่มีการสร้างสารกระตุ้นโรคหอบหืดเพิ่มมากขึ้น ตัวชี้วัดประสิทธิภาพระบบหายใจยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ระบบหายใจดีขึ้น) ระดับไขมันในเลือดดีขึ้น(ระดับไขมันรวมลดลง ไตรกลีเซอไรด์ลดลง ไขมันชนิดไม่ดีลดลง ไขมันชนิดดีเพิ่มมขึ้น) และมีความแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคน้ำมันงาม้อนอย่างมีนัยสำคัญ
จากการทดลองจึงสรุปได้ว่า การบริโภคน้ำมันงาม้อนมีส่วนช่วยในการลดอาการหอบหืด ช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้ระดับไขมันในเลือดดีขึ้นด้วย
ผลระยะยาวของ ALA (omega3) ต่อระดับส่วนประกอบเซรั่มกรดไขมันและปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
แม้หน้าที่สำคัญของกรดไขมันโอเมก้า 3 คือการช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ผลของการบริโภคโอเมก้า 3 ในรูปของ ALA ในระยะยาวยังไม่ได้รับการทดลองภายใต้การควบคุมตัวแปรต่างๆ เราทดสอบค่าของ ALA ในซีรั่มและความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ การตรวจสอบ OxLDL ใช้เครื่อง ELISA ตรวจสอบแอนติบอดี้ ด้วยการเปลี่ยนจากการบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองมาเป็นน้ำมันงาม้อน อัตราส่วนของโอเมก้า 6 ต่อโอเมก้า 3 เปลี่ยนจาก 4:1 เป็น 1:1 ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 20 คน ถูกกำหนดให้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นถูกกำหนดให้บริโภคน้ำมันงาม้อนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 เดือน และถูกกำหนดให้กลับมาบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองเหมือนเดิม
ผลที่ได้คือ ค่าของ ALA ในร่างกายเพิ่มขึ้นถึง 100% กล่าวคือ จาก 0.8% เป็น 1.6% หลังจากบริโภคน้ำมันงาม้อนสามเดือนต่อเนื่อง แต่ค่า EPA และ DHA เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาหลังจากบริโภคน้ำมันงาม้อนได้ 10 เดือน โดยค่า EPA เพิ่มขี้นจาก 2.5 เป็น 3.6% (เพิ่มขึ้น 44%) และค่า DHA เพิ่มขึ้นจาก 5.3 เป็น 6.4% (เพิ่มขึ้น 21%) และค่าทั้งหมดลดลงสู่ภาวะเดิม หลังจากเลิกใช้น้ำมันงาม้อนและเปลี่ยนมาใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทน
ในส่วนของน้ำหนักตัว ไขมันชนิดไม่ดีและค่าที่ตรวจวัดอื่นๆไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงของการบริโภคน้ำมันงาม้อน
ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า การบริโภคน้ำมันงาม้อนทดแทนน้ำมันถั่วเหลือง ช่วยเพิ่มโอเมก้า 3 ในรูป ALA, EPA และ DHA ภายใน 10 เดือนโดยไม่มีผลข้างเคียงอันตรายใดเลย
ผลของการบริโภคน้ำมันงาม่อนและการออกกำลังกายที่มีต่อระดับไขมันในเลือดในผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง
ทดลองโดยใช้กลุ่มตัวอย่างอายุ 18-75 ปี ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจำนวน 36 คน ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12 คน ด้วยวิธีการแบบสุ่ม โดยแต่ละกลุ่มรายละเอียดดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างเดียว (Exercise group หรือเรียกย่อๆว่า EG)
กลุ่มที่ใช้น้ำมันงาม้อนอย่างเดียว (Medicine group หรือเรียกย่อๆว่า MG)
กลุ่มที่ออกกำลังกายและใช้น้ำมันงาม้อนทั้งสองอย่าง (Exercise and Medicine Group หรือเรียกย่อๆว่า EMG)
มีการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับไขมันก่อนการทดลอง หลังจากทดลอง 28 วันและ 56 วัน รวม 3 ครั้ง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้ง 3 กลุ่ม (ไตรกลีเซอไรด์ลดลง ไขมันชนิดเลวลดลงและไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้น) โดยที่กลุ่มที่ระดับไขมันดีที่สุด (ไตรกลีเซอไรด์ต่ำสุด ไขมันชนิดเลวต่ำสุดและไขมันชนิดดีสูงสุด) คือ กลุ่มที่ออกกำลังกายและใช้น้ำมันงาม้อนทั้งสองอย่าง โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อตับและไตของกลุ่มตัวอย่างเลยแม้แต่น้อย
จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่า น้ำมันงาม้อนมีส่วนช่วยในการรักษาระดับไขมันให้อยู่ในภาวะปกติและมีศักยภาพในการใช้ทดแทนยาลดไขมันแผนปัจจุบันได้