งาม่อนคืออะไร?
งาม่อนเป็นพืชตระกูลมิ้นต์ (ตระกูลเดียวกับสะระแหน่) ทีมีฤทธิ์หรือสรรพคุณทางยา เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี ่ขอบใบมีลักษณะคล้ายฟันเลื่อย กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม ใบมีได้หลายสี เช่น สีเขียวจนถึงสีเขียวเข้ม สีม่วงและสีแดง ขึ้นกับสายพันธุ์ ดอกเป็นสีขาวจนถึงสีม่วง เมล็ดมีทั้งแบบแข็งและแบบอ่อน มีสีขาว เทา น้ำตาลและน้ำตาลเข้ม
งาม่อนเป็นพืชที่พบได้ในมากในทวีปเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย ลาว เวียดนาม อินเดีย งาม่อนเป็นพืชที่มีกลิ่นและรสเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงได้รับความนิยมในการใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารชนิดต่างๆตามวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เนื่องด้วยงาม่อนมีสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์หลายชนิด จึงถูกนำไปใช้ทำยาสมุนไพรรักษาโรคในหลายรูปแบบตามแบบแผนของแพทย์ประเภทนั้น
ชื่อเรียกงาม้อน
งาม่อน
งาม้อน
งาขี้ม้อน
งาขี้ม่อน
ประโยชน์และสรรพคุณของงาม่อนโดยรวม
งาม่อนกับการใช้ทำอาหาร
ประเทศจีน
ในตำรับอาหารของชาวแมนจู ประเทศจีน ใช้ใบงาม่อนในการทำหมั่นโถว (Steamed perilla bun) โดยทำจากข้าวฟ่างที่มีความเหนียว (glutinous sorghum) หรือแป้งข้าวฟ่าง ปั้นเป็นแป้งโด ใส่ด้วยไส้ถั่วแดงและห่อด้วยใบงาม่อน โดยอาหารชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับ วันถอนรากถอนโคนอาหาร (Food Extermination Day) ของชาวแมนจู
ประเทศญี่ปุ่น
ในประเทศญี่ปุ่นงาม่อนถูกเรียกว่า ชิโซะ (Shiso) ใบ เมล็ดและต้นอ่อนถูกนำไปใช้ประกอบอาหารอย่างแพร่หลาย ใบงาม่อนสีเขียวถูกใช้เป็นสมุนไพรในบะหมี่เย็น เต้าหู้เย็น ทาทากิ (ทาทากิ – tataki หมายถึง การปรุงอาหารด้วยความร้อนสูง เฉพาะบริเวณผิวเท่านั้นโดยให้เกิดการเกรียมเล็กน้อยและด้านในไม่สุก) และนำไปเซิร์ฟเป็นผักเคียงในเมนูปลาดิบ (Sashimi) ทั้งหลาย ใบงาม่อนสีม่วงถูกใช้ในกรรมวิธีการทำบ๊วยดอง (Umeboshi) เมล็ดงาม่อนถูกทำให้เค็มและใช้เป็นเครื่องเทศ ในขณะที่ต้นอ่อนถูกใช้ตกแต่งจานอาหาร
ประเทศเกาหลี
ใบงาม่อนถูกใช้เป็นผักหรือสมุนไพรในอาหารเกาหลีหลากหลายเมนู ทั้งในรูปแบบใบสด ตากแห้งหรือดองและนิยมใช้เป็นผักห่ออีกด้วย เมล็ดนำมาคั่วและบดเป็นผง เพื่อใช้เป็นเครื่องเทศหรือเครื่องปรุงสำหรับก๋วยเตี๋ยว สตู ซุป หรือใช้คลุกกับเค้กข้าวหรือลูกอมเกาหลี
ประเทศลาว
ใบงาม่อนสีม่วงหรือภาษาลาวเรียกว่า ผักแมงดา ใช้เป็นส่วนผักเคียงในจานขนมจีนน้ำยาหรือที่ภาษาลาวเรียกว่า ข้าวปุ้น
ประเทศเวียดนาม
ใช้เป็นส่วนผักเคียงในจานขนมจีนน้ำยาเช่นเดียวกับประเทศลาว
งาม่อนกับการใช้สกัดน้ำมันเพื่อใช้บริโภค
น้ำมันงาม่อนได้จากการสกัดเมล็ดงาม่อน ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำมัน 35-45% ในทวีปเอเชียน้ำมันงาม่อนถูกนำมาใช้ประกอบอาหาร จริงๆแล้วนอกจากกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์ของงาม่อนแล้ว ยังมีประโยชน์ที่มากกว่านั้นคือ สรรพคุณทางยา งาม่อนเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด ALA (Alpha Linoleic Acid)
งาม่อนกับการใช้สกัดน้ำมันเพื่ออุตสาหกรรม
น้ำมันงาม่อนเป็นน้ำมันมีคุณสมบัติเป็น “drying oil” กล่าวคือ แข็งตัวได้เมื่อสัมผัสกับอากาศ ส่งผลให้ถูกนำไปใช้งานภาพวาด งานพิมพ์ เสื่อหรือพรมน้ำมัน ใช้เป็นสารเคลือบเงาหรือน้ำมันขัดเงา ใช้เป็นสารเคลือบเพื่อกันน้ำในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้า และนำไปใช้เป็นน้ำมันสำหรับยานพาหนะและเครื่องจักรกลด้วย
สารสกัดงาม่อนใช้ผลิตสร้างสารทดแทนความหวานแทนน้ำตาล
สารในงาม่อน (สารนี้มีชื่อว่า perillartine อ่านว่า เพอริลล่าทีน) ถูกนำมาใช้เป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล (Artificial Sweetener) หรือน้ำตาลวิทยาศาสตร์ โดยมีความหวานมากกว่าน้ำตาลปกติ 2,000 เท่า บุหรี่ญี่ปุ่นที่มีรสหวานก็ใช้สารให้ความหวานที่ทำจากงาม่อน อย่างไรก็ตาม แม้สารให้ความหวานจากงาม่อนจะหวานกว่าน้ำตาลทรายปกติหลายเท่าตัว แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่ 2 อย่าง คือ การไม่สามารถละลายน้ำได้และรสขมที่เกิดขึ้นในปากหลังกินเข้าไปแล้ว
ความเป็นพิษของงาม่อน
สาร Periila Ketone (อ่านว่า เพอริลล่าคีโตน) ในงาม่อนเป็นพิษต่อสัตว์บางชนิด เมื่อสัตว์ประเภทวัวควายกินใบหรือกิ่งต้นงาม่อนในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้เกิดอาการน้ำท่วมปวด
ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลี มีคนงานในอุตสาหกรรมงาม้อนมีอาการผิวหนังอักเสบ เพราะผิวหนังสัมผัสกับน้ำมันงาม้อนในปริมาณมากเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานของผลเสียของการใช้งาม้อนในมุมของยาสมุนไพรแต่อย่างใด
ประโยชน์และสรรพคุณของงาม่อนต่อสุขภาพ
งาม้อนในแง่มุมของการแพทย์ครอบคลุมทั้งในส่วนของการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
งาม้อนถูกใช้ทำยามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น แต่ได้รับความนิยมมากเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของยาหลายๆสูตรมาจนถึงทุกวันนี้ และมีบันทึกในหนังสือ Taiping Huimin Hejiju Fang (1110 A.D หรือประมาณ 1,110 ปีก่อนคริสตกาล) ที่ถูกเขียนขึ้นสมัยราชวงศ์ซ่ง มีสูตรยาชนิดต่างๆหลายชนิด
สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบัน งาม้อนถูกนำมาวิจัยมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะถูกนำมาใช้ทำยารักษาโรค เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบันที่มีผลข้างเคียงและมีราคาแพง
- งาม้อนเป็นพืชที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงและสูงกว่าเมล็ดเจีย 2 เท่า
- งาม้อนเป็นพืชที่อัตราส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 อย่างสมดุล กล่าวคือมีตัวเลขอยู่ที่ 6:1
- เนื่องจากน้ำมันงาม้อนมีโอเมก้า 3 สูง จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหัวใจ บำรุงระบบประสาทและสมอง
- เนื่องจากน้ำมันงาม้อนมีโอเมก้า 3 สูง จึงสามารถใช้ทดแทนน้ำปลาได้ ในกรณีของผู้ที่แพ้น้ำมันปลาหรือทานมังสวิรัติ ทานเจ
- งาม้อนมีสรรพคุณทางยา จึงถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรค
- แพทย์จีนใช้งาม้อนในเป็นส่วนผสมของยาเพื่อให้มีสรรพคุณในการต้านไวรัส เพิ่มภูมิคุ้มกันและแก้หวัด
- งาม้อนมีสรรพคุณในการบำบัดโรคหืด อาการคลื่นไส้ โรคลมแดด และลดอาการกล้ามเนื้อชักกระตุก
- ใบงาม้อนใช้แก้หวัดภายนอกได้ (หวัดภายนอก คือ หวัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมแล้วส่งผลให้ร่างกายเป็นหวัด เช่น อากาศเย็น)
- กิ่งก้านงาม้อนใช้แก้อาการแพ้ท้อง
- ใช้ใบและกิ่งงาม้อนรวมกันช่วยลดเสมหะได้
- ใบงาม้อนใช้กำจัดพิษจากปลาและปู ซึ่งปรากฏในรูปของอาการแน่นหน้าอก อาเจียนและปวดท้อง (เหมาะสำหรับคนที่แพ้อาหารทะเลหรืออาหารทะเลเป็นพิษก็ได้)
- เมล็ดงาม้อนใช้กระตุ้นลมปราณจึงเหมาะสำหรับรักษาผู้ที่หายใจวีต ที่เกิดจากการสูบบุหรี่หรืออาการหอบหืด (wheezing) และไอแบบมีเสมหะ
สรรพคุณมีหลากหลาย ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ในงาม้อนในรูปแบบที่มีงาวิจัยแล้วจะปลอดภัยและดีต่อสุขภาพนะครับ
งานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับงาม้อน
งานวิจัยงาม้อนจนถึงปัจจุบันมีอยู่หลายสิบงานวิจัย มีการวิจัยทั้งในคน สัตว์และในจานทดลอง ซึ่งมีงานวิจัยที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ผลของการบริโภคน้ำมันงาม้อนต่อการสร้างสารกระตุ้นโรคหอบหืดและระดับไขมัน
กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหอบหืด แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคน้ำงาม้อน กลุ่มที่สองไม่ได้บริโภคน้ำมันงาม้อน โดยมีการตรวจสอบการสร้างสารกระตุ้นโรคหอบหืดและระดับไขมันก่อนการทดลอง หลังทดลอง 2 สัปดาห์และ 4 สัปดาห์ตามลำดับ
ผลการทดลองที่ได้ คือ กลุ่มที่บริโภคน้ำมันงาม้อนสามารถลดการสร้างสารกระตุ้นโรคหอบหืดได้อย่างมีนัยสำคัญภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ตรงข้ามกลับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคน้ำมันงาม้อนที่มีการสร้างสารกระตุ้นโรคหอบหืดเพิ่มมากขึ้น ตัวชี้วัดประสิทธิภาพระบบหายใจยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ระบบหายใจดีขึ้น) ระดับไขมันในเลือดดีขึ้น(ระดับไขมันรวมลดลง ไตรกลีเซอไรด์ลดลง ไขมันชนิดไม่ดีลดลง ไขมันชนิดดีเพิ่มมขึ้น) และมีความแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคน้ำมันงาม้อนอย่างมีนัยสำคัญ
จากการทดลองจึงสรุปได้ว่า การบริโภคน้ำมันงาม้อนมีส่วนช่วยในการลดอาการหอบหืด ช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้ระดับไขมันในเลือดดีขึ้นด้วย
ผลระยะยาวของ ALA (omega3) ต่อระดับส่วนประกอบเซรั่มกรดไขมันและปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
แม้หน้าที่สำคัญของกรดไขมันโอเมก้า 3 คือการช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ผลของการบริโภคโอเมก้า 3 ในรูปของ ALA ในระยะยาวยังไม่ได้รับการทดลองภายใต้การควบคุมตัวแปรต่างๆ เราทดสอบค่าของ ALA ในซีรั่มและความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ การตรวจสอบ OxLDL ใช้เครื่อง ELISA ตรวจสอบแอนติบอดี้ ด้วยการเปลี่ยนจากการบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองมาเป็นน้ำมันงาม้อน อัตราส่วนของโอเมก้า 6 ต่อโอเมก้า 3 เปลี่ยนจาก 4:1 เป็น 1:1 ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 20 คน ถูกกำหนดให้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นถูกกำหนดให้บริโภคน้ำมันงาม้อนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 เดือน และถูกกำหนดให้กลับมาบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองเหมือนเดิม
ผลที่ได้คือ ค่าของ ALA ในร่างกายเพิ่มขึ้นถึง 100% กล่าวคือ จาก 0.8% เป็น 1.6% หลังจากบริโภคน้ำมันงาม้อนสามเดือนต่อเนื่อง แต่ค่า EPA และ DHA เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาหลังจากบริโภคน้ำมันงาม้อนได้ 10 เดือน โดยค่า EPA เพิ่มขี้นจาก 2.5 เป็น 3.6% (เพิ่มขึ้น 44%) และค่า DHA เพิ่มขึ้นจาก 5.3 เป็น 6.4% (เพิ่มขึ้น 21%) และค่าทั้งหมดลดลงสู่ภาวะเดิม หลังจากเลิกใช้น้ำมันงาม้อนและเปลี่ยนมาใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทน
ในส่วนของน้ำหนักตัว ไขมันชนิดไม่ดีและค่าที่ตรวจวัดอื่นๆไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงของการบริโภคน้ำมันงาม้อน
ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า การบริโภคน้ำมันงาม้อนทดแทนน้ำมันถั่วเหลือง ช่วยเพิ่มโอเมก้า 3 ในรูป ALA, EPA และ DHA ภายใน 10 เดือนโดยไม่มีผลข้างเคียงอันตรายใดเลย
ผลของการบริโภคน้ำมันงาม่อนและการออกกำลังกายที่มีต่อระดับไขมันในเลือดในผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง
ทดลองโดยใช้กลุ่มตัวอย่างอายุ 18-75 ปี ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจำนวน 36 คน ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12 คน ด้วยวิธีการแบบสุ่ม โดยแต่ละกลุ่มรายละเอียดดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างเดียว (Exercise group หรือเรียกย่อๆว่า EG)
กลุ่มที่ใช้น้ำมันงาม้อนอย่างเดียว (Medicine group หรือเรียกย่อๆว่า MG)
กลุ่มที่ออกกำลังกายและใช้น้ำมันงาม้อนทั้งสองอย่าง (Exercise and Medicine Group หรือเรียกย่อๆว่า EMG)
มีการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับไขมันก่อนการทดลอง หลังจากทดลอง 28 วันและ 56 วัน รวม 3 ครั้ง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้ง 3 กลุ่ม (ไตรกลีเซอไรด์ลดลง ไขมันชนิดเลวลดลงและไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้น) โดยที่กลุ่มที่ระดับไขมันดีที่สุด (ไตรกลีเซอไรด์ต่ำสุด ไขมันชนิดเลวต่ำสุดและไขมันชนิดดีสูงสุด) คือ กลุ่มที่ออกกำลังกายและใช้น้ำมันงาม้อนทั้งสองอย่าง โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อตับและไตของกลุ่มตัวอย่างเลยแม้แต่น้อย
จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่า น้ำมันงาม้อนมีส่วนช่วยในการรักษาระดับไขมันให้อยู่ในภาวะปกติและมีศักยภาพในการใช้ทดแทนยาลดไขมันแผนปัจจุบันได้