ความดันโลหิตสูง การรักษาและบำบัดความดันโลหิตสูงแบบธรรมชาติ

ความดันโลหิตสูงคืออะไร

ความดันโลหิต คือ แรงดันของเลือดที่กระทำต่อผนังหลอดเลือด ท่านผู้อ่านลองนึกถึงภาพของน้ำที่ไหลผ่านท่อเปรียบเทียบกับเลือดที่ไหลผ่านเส้นเลือด ตลอดระยะทางที่ไหลผ่านจะมีแรงกระทำต่อท่อหรือหลอดเลือดตลอดเวลา โดยค่าความดันโลหิตจะมีอยู่ 2 ค่า คือ

ความดันซิสโตลิค (Systolic) เป็นความดันค่ามากหรือค่าบน เพราะเป็นความดันที่หัวใจอยู่ในจังหวะบีบตัว
ความดันไดอะสโตลิค (Diastolic) เป็นความดันค่าน้อยหรือค่าล่าง เพราะเป็นความดันที่หัวใจอยู่ในจังหวะคลายตัว

คำว่าความดันโลหิตสูง (Hypertension หรือ High Blood Pressure) คือภาวะที่เลือดมีความดันสูงกว่ามาตราฐาน คือ

ค่าบน 90-119 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)
ค่าล่าง 60-79 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)

ระดับของความดันโลหิตสูง

ระดับปกติ (Normal)

ค่าบน 90-119 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)
ค่าล่าง 60-79 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)

ระดับเริ่มต้น (Prehypertension)

ค่าบน 120-139 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)
ค่าล่าง 80-89 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)

ระดับที่ 1

ค่าบน 140-159 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)
ค่าล่าง 90-99 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)

ระดับที่ 2

ค่าบน 160-179 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)
ค่าล่าง 100-109 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)

ระดับที่ 3

ค่าบนมากกว่า 180 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)
ค่าล่างมากกว่า 110 mmHg (หรือมิลลิเมตรปรอท)

หากความดันโลหิตทีตรวจวัดได้ค่าบนหรือค่าล่างไม่อยู่ในระดับเดียวกัน เช่น

วัดค่าบนได้ 160 mm Hg (ค่าบนอยู่ในระดับที่ 2)
วัดค่าล่างได้ 90 mm Hg (ค่าล่างอยู่ในระดับที่ 1)

ถ้าอยู่ในกรณีลักษณะนี้จะเรียกว่า Isolated Hypertension (Isolated แปลว่า โดดเดี่ยว)

ประเภทของความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงจริงๆแล้วแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆคือ

ความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ (Primary Hypertension) มากกว่า 90% ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจัดอยู่ในประเภทนี้ ซึ่งเป็นความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทราบแต่เพียงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด เช่น อาหาร อายุ ความเครียด การนอนหลับพักผ่อนและการออกกำลังกาย

ความดันโลหิตสูงแบบทุติยภูมิ (Secondary Hypertension) เป็นความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุแน่ชัด เช่น เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ มีเนื้องอกเกิดขึ้นในร่างกาย โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดอักเสบ ซึ่งส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงที่ไตน้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้

ในบทความนี้เราจะคุยกันเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิเท่านั้น

อาการของความดันโลหิตสูง

โดยปกติแล้วการตรวจร่างกายด้วยเครื่องวัดความดัน จะตัดสินได้ง่ายและชัดเจนว่า ความดันโลหิตของเราสูงหรือไม่ และอยู่ในระดับไหน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงอาจมีอาการเหล่านี้ประกอบด้วย

ปวดศีรษะรุนแรง
มองเห็นไม่ชัด
เหนื่อยล้า
เจ็บหน้าอก
หายใจลำบาก
หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ปัสสาวะเป็นเลือด

ถ้าท่านมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่า ท่านควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยด่วน เพราะหากอาการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงในระดับที่อันตราย (ระดับ 3)

สาเหตุของความดันโลหิตสูง

ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของความดันโลหิตสูงที่แน่ชัด ทราบเพียงแต่ปัจจัยที่เกียวข้องเท่านั้น เช่น

อายุที่มากขึ้น
ความอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกินมาตราฐาน
การบริโภคอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูงเกินจำเป็น
มีพฤติกรรมชอบนั่งนิ่งๆไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย

ในทางการแพทย์แผนจีน สาเหตุของความดันโลหิตสูงคือ

การมีพฤติกรรมไม่ค่อยเคลื่อนไหวและไม่ออกกำลังกาย
ภาวะทุพโภชนาการหรือทานอาหารไม่เหมาะสม
เครียดเรื้อรัง
อวัยวะภายในมีความบกพร่อง

ดูรวมๆแล้วสาเหตุความดันโลหิตสูงของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนมีความคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่ใช้คำพูดสื่อความหมายแตกต่างกันเท่านั้นเอง

ดังนั้น หากเราพิจารณาให้ดีแล้ว สาเหตุของความดันโลหิตสูง น่าจะเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันหรือไลฟ์สไตล์ของเรา เช่น อาหาร ความเครียด การนอนหลับพักผ่อนและการออกกำลังกาย

อันตรายของความดันโลหิตสูง

อย่างที่ได้ให้ความหมายไปแล้วตอนต้นของบทความว่า ความดันโลหิต คือ แรงที่เกิดจากการไหลของเลือดกระทำต่อผนังหลอดเลือด ในกรณีของความดันโลหิตสูง แรงที่กระทำต่อผนังหลอดเลือดจะมากกว่าปกติ ส่งผลให้เซลล์ผนังหลอดเลือดถูกทำลาย หลอดเลือดโป่งพองหรือฉีกขาด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดในสมองแตก ส่งผลให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ และโรคหัวใจที่ทำให้เสียชีวิตได้เฉียบพลัน

ผลเสียของความดันโลหิตสูงต่อร่างกาย

ความดันโลหิตสูงทำให้เกิดผลเสียที่เห็นได้ชัดต่อร่างกายอยู่ 2 ส่วน คือ หัวใจและหลอดเลือด เราจะมาศึกษากันทีละส่วนโดยเริ่มจากหลอดเลือดก่อน

ผลเสียของความดันโลหิตสูงต่อหลอดเลือด

ร่างกายมนุษย์มีหลอดเลือดกระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่ตัวศีรษะจรดปลายเท้า เราสามารถสังเกตุได้ง่ายๆว่า ตรงไหนมีหลอดเลือดหรือเส้นเลือด เวลาเกิดบาดแผลย่อมมีเลือดไหล

หลอดเลือดหรือเส้นเลือดมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆคือ เส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ เส้นเลือดมีหลายขนาด คือ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่เราเรียกว่า เส้นเลือดใหญ่ อย่างเช่นเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดบริเวณลำคอ หรือต้นขา ไปจนถึงขนาดเล็กที่เราเรียกว่า เส้นเลือดฝอย ที่มีอยู่ทั่วร่างกาย ความดันโลหิตสูงส่งผลต่อหลอดเลือดแดงเป็นส่วนมากและส่งผลต่อหลอดเลือดทุกขนาดไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก

ความดันโลหิตสูงมีผลเสียต่อเส้นเลือด แรงปริมาณมากที่กระทำต่อผนังหลอดเลือดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานทำให้หลอดเลือดอ่อนแอ คำว่าอ่อนแอในที่นี้หมายถึง

เส้นเลือดแดงแข็งและขาดความยืดหยุ่น

ปกติแล้วผนังเส้นเลือดจะมีความยืดหยุ่นได้ในระดับนึง ท่านผู้อ่านลองนึกถึงภาพของ ยางยืด คุณสมบัติของยางยืดคือ มีความยืดหยุ่น แม้จะยืดออกไปมากเพียงใดก็สามารถหดกลับเหมือนเดิมได้ อย่างไรก็ตาม แม้ยางยืดจะมีความยืดหยุ่น แต่ถ้ายืดทิ้งไว้นานหรือยืดมากเกินไป ก็จะทำให้ยางยืดสูญเสียความยืดหยุ่นหรือหดกลับเหมือนเดิมไม่ได้ ผนังเส้นเลือดก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีความยืดหยุ่น แต่ถ้าถูกแรงตกกระทบในปริมาณที่มากเกินไปเป็นระยะเวลานาน จะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น เกิดเป็นภาวะหลอดเลือดแข็งได้

เส้นเลือดแดงโป่งพองเกิดถุงกักเก็บเลือดไว้

ภาวะเส้นเลือดแดงโป่งพองจะเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเส้นเลือดแดงแข็ง ผนังหลอดเลือดที่แข็งและขาดความยืดหยุ่นเมื่อถูกแรงกระทำจากความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้ยืดออกจนโป่งพองกลายเป็นถุงเก็บกักเลือด หลอดเลือดบริเวณที่เกิดถุงจะค่อยๆโตขึ้น ยิ่งโตขึ้นมากผนังหลอดเลือดบริเวณนั้นยิ่งบาง เสี่ยงต่อการฉีกขาดหรือแตกได้

เส้นเลือดแดงฝอยแตกหรือฉีกขาด

เส้นเลือดแดงฝอยมีขนาดเล็กและผนังมีความบาง หากเกิดภาวะเส้นเลือดแดงแข็งและโป่งพองย่อมมีโอกาสฉีกขาดหรือแตกได้ง่าย ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินชื่อของโรคยอดนิยมที่เรียกว่า โรคเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งเป็นภาวะที่เกียวข้องและเป็นผลจากความดันโลหิตสูง

ผลเสียของความดันโลหิตสูงต่อหัวใจ

หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคหัวใจ ซึ่งตามความเข้าใจพื้นฐานของแต่ละคนคือ หัวใจหยุดทำงานและเสียชีวิต ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเราเจาะลึกลงไปในรายละเอียด จะทราบว่าสาเหตุของหัวใจที่หยุดทำงานของผู้ป่วยแต่ละคน อาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นกับโรคที่เป็นอยู่

ความดันโลหิตสูงมีผลเสียต่อหัวใจ ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

หลังจากหลอดเลือดได้รับผลกระทบจากความดันโลหิตสูงจนเสื่อมสภาพ เช่น แข็ง โป่งพอง ความยืดหยุ่นแทบไม่มี แรงต้านในเส้นเลือดจะสูงขึ้น หัวใจของคนเราทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายผ่านทางเส้นเลือด หากหลอดเลือดเสื่อมสภาพและแรงต้านในเส้นเลือดสูงขึ้น หัวใจจำเป็นต้องใช้แรงในการสูบฉีดเลือดมากขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ร่างกายจะชดเชยด้วยการสร้างกล้ามเนื้อหัวใจให้มีมากขึ้น ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบได้กับการยกน้ำหนักเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ถ้าเราออกกำลังกายส่วนไหนมาก กล้ามเนื้อส่วนนั้นจะใหญ่ขึ้น หัวใจก็เช่นเดียวกัน

แรงต้านในเส้นเลือดที่สูงขึ้นในอีกกรณีหนึ่ง คือ การมีไขมันจับตามผนังหลอดเลือดในลักษณะของตะกรันไขมัน ซึ่งมักจะมาพร้อมกับภาวะหลอดเลือดแข็ง ส่งผลให้ช่องทางการไหลเวียนของเลือดตีบแคบลง ภาษาที่เราเข้าใจกันง่ายที่สุดคือ ภาวะไขมันอุดตันเส้นเลือด

ดูเผินๆเหมือนจะดี ที่กล้ามเนื้อหัวใจมีมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นเรื่องอันตราย เพราะกล้ามเนื้อหัวใจที่ใหญ่ขึ้นมีความจำเป็นต้องได้รับเลือดและออกซิเจนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ปกติแล้วเลือดจะนำพาสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายรวมถึงหัวใจ เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจของคนๆหนึ่งจะมีปริมาณเท่าเดิมหรือใกล้เคียงของเดิมอยู่เสมอ ถ้าหากหัวใจเรามีกล้ามเนื้อมากขึ้น แต่เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีปริมาณเท่าเดิม ย่อมไม่สามารถให้ออกซิเจนและสารอาหารกับหัวใจได้เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนได้รับเลือดไม่เพียงพอหรือขาดเลือด ซึ่งนำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) ที่ท่านผู้อ่านหลายคนคุ้นเคยกันดี

ในอีกกรณีหนึ่งที่เราพบได้บ่อย คือ ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจทำงานหนัก แต่หัวใจไม่ยอมที่จะสร้างกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความสามารถในการสูบฉีดเลือด แต่ยอมแพ้และหยุดทำงานไปเฉยๆ ลักษณะแบบนี้เรียกว่า หัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบกับคนที่ทำงานหนักต่อเนื่องยาวนานหลายปี จนวันหนึ่งทำงานไม่ไหวและหยุดทำงานไปเฉยๆเพราะเหนื่อยและทำไม่ไหวแล้ว หัวใจล้มเหลวก็คล้ายๆแบบนั้น

โรคแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง

เนื่องจากความดันโลหิตสูงมีผลต่อสุขภาพของหลอดเลือด ถ้าผู้่ป่วยไม่ดูแลสุขภาพหรือไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ หลอดเลือดย่อมเกิดความเสื่อมในรูปแบบของหลอดเลือดแข็ง โป่งพองและแตก เป็นอันตรายอวัยวะที่หลอดเลือดนั้นอยู่ หลอดเลือดมีอยู่ทั่วร่างกายของเรา การเกิดโรคแทรกซ้อนจึงเกิดได้กับทุกอวัยวะ

อย่างไรก็ตาม อวัยวะที่มักเกิดโรคแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงจะมีอยู่ 4 อวัยวะ คือ สมอง หัวใจ ไต ตา โดยมีโรคแทรกซ้อนยอดนิยมดังต่อไปนี้

โรคหัวใจขาดเลือด มักจะเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน
โรคหัวใจล้มเหลว มักจะเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน

โรคหลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง มักจะเสียชีวิตแบบเฉียบพลันหรือเป็นอัมพฤกษ์
กลุ่มอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะ มึนงง ความคิดสับสน ชัก
จอตาเสื่อม ทำให้การมองเห็นแย่ลงและตาบอดในที่สุด
โรคไตเรื้อรัง การกรองสารพิษออกจากร่างกายแย่ลง สุดท้ายต้องฟอกไต หากดูแลไม่ดีอาจเกิดภาวะไตวายและเสียชีวิตได้

การรักษาและบำบัดโรคความดันโลหิตสูง

วิธีการในการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด โดยไม่ต้องใช้ยาลดความดันมีอยู่หลายวิธี ท่านผู้อ่านลองพิจารณาใช้วิธีการดังต่อไปนี้ (หากท่านต้องการใช้ยาลดความดันให้ปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลได้เลย ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงการใช้ยาลดความดันในบทความนี้)

ปรับสัดส่วนของอาหารใหม่

เท่าที่ทราบจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน มีคนจำนวนมากที่มีความรู้เกี่ยวกับโภชนาการค่อนข้างดี คือ รู้ว่าอะไรควรทาน อะไรไม่ควรทาน แต่ก็มีคนจำนวนมากอีกเช่นกันที่ไม่เคยทราบเรื่องพวกนี้เลย อาหาร 3 มื้อของคนกลุ่มหลัง มักเป็นอะไรที่ทานง่าย สะดวก รวดเร็ว เช่น อาหารจานเดียว ขนมปัง ชา กาแฟ นมสด เป็นต้น โดยที่ไม่ทราบเลยว่าการบริโภคอาหารไม่ได้สัดส่วนเป็นปัจจัยเสียงและสาเหตุหลักของโรคความดันโลหิตสูง

สัดส่วนของอาหารมีผลต่อสุขภาพ เพราะอาหารเป็นสิ่งทีเราต้องรับเข้าสู่ร่างกายทุกวัน วันละหลายครั้ง อาหารจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งและเป็นตัวกำหนดสุขภาพของเราไปตลอดชีวิต มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ใส่ใจสัดส่วนของอาหารที่ตนเองทาน ถือว่าทานเอาแค่อิ่มก็พอแล้ว ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

สัดส่วนของอาหารที่ดีต่อโรคความดันโลหิตสูง

ผักใบเขียวสด 30%
ผลไม้สด 20%
ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ถั่วดำ ถั่วแดง แอลมอนต์ 30%
โปรตีนจากสัตว์ 10% (เช่น หมู่ ไข่ ไก่ ปลา ทานแค่พอหายอยาก อย่าทานเยอะเพราะผลเสียจะมากกว่าผลดี)
ไขมันพืชชนิดดี 10% (เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงาม่อน น้ำมันงาดำ เลือกใช้แบบสกัดเย็น)

รวม 100% พอดี

กะๆเอาไม่ต้องเป๊ะๆและมีหลวมๆได้บ้าง เพราะคนเราไม่ได้ทำอาหารทานเองทุกมื้อ อาจจะมีทานอาหารนอกบ้านตามใจปากก็ไม่เป็นไร วันไหนอยู่บ้านเลือกทำอาหารทานเองได้ก็พยายามทำให้ได้ตามสูตรนี้ วันไหนทานอาหารนอกบ้านมา ก็หาสลัดผักชามโตๆน้ำหนักประมาณ 400-500 กรัม ทานมื้อเย็นหรือระหว่างวัน ก็จะช่วยสร้างสมดุลให้กับร่างกายได้ดี

พยายามลดมื้ออาหารลง

โรคความดันโลหิตสูงในทรรศนะของแพทย์ทางเลือกคือ โรคที่เกิดจากความเสื่อมไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค การดูแลสุขภาพเพื่อให้ร่างกายเกิดความเสื่อมน้อยที่สุด จึงช่วยป้องกันและบำบัดโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย

การลดมื้ออาหารลดจากการทาน 3 มื้อเป็น 1 หรือ 2 มื้อ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดความเสี่ยงของการโรคเสื่อมทุกชนิด ทั้งในแง่มุมของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอยู่ในศาสตร์การแพทย์ชะลอวัย (Anti-Aging) และอยู่ในศีล 227 ข้อสำหรับพระสงฆ์ ศีล 10 สำหรับสามเณรและศีล 8 สำหรับฆราวาสหรือบุคคลทั่วไป ซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งที่บอกว่า วิกาลโภชนา เวรมณี… แปลว่า ไม่ควรบริโภคอาหารยามวิกาล ตีความได้ว่า หลังเที่ยงไปไม่ควรบริโภคอาหารใดๆอีก (น้ำหรืออาหารเหลวทานได้ หากการตีความไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาพุทธ ผู้เขียนขออภัยไว้ ณ ที่นี้)

เราไม่จำเป็นต้องเคร่งเหมือนพระหรือเณร แต่เราสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ โดยการพยายามทานมื้อเย็นแต่น้อย อาจจะบริโภคอาหารที่ย่อยง่ายไม่หนักท้อง เช่น สลัดผัก น้ำผักผลไม้ปั่นสด หรือถ้าไม่ทานเลยได้ยิ่งดี

ในทางการแพทย์ชะลอวัย ให้ข้อมูลไว้ว่า การทำให้ท้องว่างหรืออดอาหารนาน 14-16 ชั่วโมง จะทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนแห่งความหนุ่มสาวหรือ Growth Hormone ฮอร์โมนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฟื้นฟูเซลล์ในร่างกาย โรคที่เกิดจากความเสื่อมอย่างความดันโลหิตสูงก็พลอยได้รับผลดีจากฮอร์โมนชนิดนี้ด้วย

หลายท่านอ่านถึงตรงนี้อาจจะนึกไม่ออก ผู้เขียนขออนุญาตยกตัวอย่างประกอบความเข้าใจดังนี้

ลองคิดดูว่า ถ้าเราทานอาหารมื้อสุดท้ายของวัน คือ 17.00 น. หรือ 5 โมงเย็น อีก 14 ชั่วโมงถึงจะทานอาหารได้ เวลานั้นคือ 7.00 น. หรือ 7 โมงเช้า ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากเลย

ดังนั้น หากเราต้องการเพิ่มชั่วโมงอดอาหาร วิธีที่ง่ายที่สุด คือ พยายามปิดมื้อเย็นของเราให้ไวขึ้น อาจจะเป็นที่ 16.00 น. และถ้าจะให้ดีควรทานมื้อเย็นเบาๆ เราจะได้รับผลดีจากการอดอาหารและช่วยลดความดันโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ความดันโลหิตสูง

อาหารที่ทำให้ความดันโลหิตสูง คือ อาหารที่ทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมหรือจะพูดแบบดูดี คือ อาหารที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกายมาก ซึ่งมีวางขายอยู่จำนวนมากตามซูเปอร์มาเก็ต อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงมีดังต่อไปนี้

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รู้ๆกันอยู่ไม่ต้องอธิบาย

บุหรี่ เช่นกัน รู้ๆกันอยู่ไม่ต้องอธิบาย

ข้าวขาว แป้งขาว น้ำตาล แป้งขัดสี ทานมากเกินไปเปลี่ยนไปเก็บเป็นไขมันเก็บไว้ตามหน้าท้อง ทำให้เราอ้วนได้ง่ายมาก

ไขมันผ่านกรรมวิธี (Trans Fat หรือ Hydrogenated Fat) ผู้ร้ายตัวจริงของโรคไขมันอุดตันเส้นเลือดและความดันโลหิตสูง ที่อเมริกาสั่งห้ามใช้ในอาหารแล้วแต่ในประเทศไทยที่กำลังพัฒนา ท่านจะพบได้ในอาหารหลายชนิด พบได้บ่อยสุดในขนมประเภทเวเฟอร์

อาหารแปรรูป เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม น้ำหวานบรรจุขวด ชาเขียวบรรจุขวดและขนมขบเคี้ยว

ชา กาแฟ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยง เพราะคาเฟอีนจะให้ความดันโลหิตสูงขึ้นแบบชั่วคราว แต่ถ้าทานทั้งวันความดันก็จะสูงขึ้นแบบยาวๆ

อาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง การบริโภคเกลือหรือโซเดียมที่มากเกินความต้องการของร่างกาย ไตจะต้องทำหน้าที่ในการกำจัดโซเดียมส่วนเกิน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีโอกาสปวยเป็นโรคไตเสื่อม จึงควรบริโภคเกลือหรือทานเค็มแต่น้อย มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำให้ทานเกลือได้ไม่เกินวันละ 1 ช้อนชาหรือ 6 กรัม จะได้รับโซเดียม 2,300 มิลลิกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

เท่าที่ผู้เขียนนึกออกตอนนี้มีประมาณนี้

เวลาซื้อของกิน ผู้เขียนแนะนำให้ท่านผู้อ่านอ่านฉลากโภชนาการของสินค้า เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าแต่ละชนิด อ่านบ่อยๆแล้วลองทำความเข้าใจดู เมื่อเราคุ้นชินกับฉลากโภชนาการ เราจะสามารถเลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีขึ้น

นอนแต่หัววัน

การพักผ่อนนอนหลับเป็นกิจวัตรของมนุษย์ทุกคน ร่างกายของคนเราหลังจากการทำงานต้องการการพักผ่อน การนอนมีบทบาทสำคัญในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพ อีกทั้งยังใช้รักษาและบำบัดโรคที่เกิดจากความเสื่อมอย่างเช่น ความดันโลหิตสูงได้ดีอีกด้วย

การนอนที่มีคุณภาพคือ การนอนแต่หัววันและมีจำนวนชั่วโมงในการนอนที่เพียงพอ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้านอน คือ 21.00 – 22.00 น. และควรนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 7-9 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกายแต่ละคน

คนที่นอนดึกเป็นประจำ นอกจากจะทำให้ความดันโลหิตสูงแล้ว ร่างกายจะเครียด แก่เร็ว ภูมิคุ้มกันตก ป่วยง่าย ร้อนใน ท้องผูก และอีกสารพัดโรคที่จะตามมา

ออกกำลังกายแบบแอโรบิค

หลายท่านเข้าใจว่าการออกำลังกายแบบแอโรบิค คือ การเต้นแอโรบิค ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้องซะทีเดียว

การออกกำลังกายแบบแอโรบิค คือ การออกกำลังกายโดยให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มสูงขึ้นถึงจุดหนึ่ง ตามความเหมาะสมของอายุในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับระบบหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งการเต้นแอโรบิคก็จัดอยู่ในข่ายนี้

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายแบบแอโรบิค มีให้ท่านเลือกมากมายหลายชนิด ตั้งแต่การเดิน วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ตีแบต ตีปิงปอง ตีเทนนิส วิ่งมาราธอน กระโดดเชือก ชกมวย วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล และอื่นๆอีก ท่านสามารถเลือกกีฬาที่ชอบได้ตามวัย ความถนัดและความสนใจส่วนบุคคล

ทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมากที่สุด เพราะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ ปอด และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้แบบธรรมชาติ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จึงควรหาเวลาออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที

ลดความเครียด

เวลาที่เรารู้สึกเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดที่มีชื่อว่า อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล มีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เลือดสูบฉีดแรงขึ้น (ร่างกายมีอาการเหล่านี้เพื่อเตรียมสู้หรือหนี) และแน่นอนว่าความดันโลหิตสูงขึ้น

ความเครียดเป็นภาวะปกติของมนุษย์ เกิดขึ้นได้กับทุกคน และความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้นมักเป็นเพียงชั่วคราว หายเครียดเมื่อไหร่ความดันก็กลับสู่ระดับปกติได้แบบไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม คนสมัยนี้เครียดง่ายกว่าแต่ก่อนมาก อาจจะด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปแบบคนยุคดิจิตอลที่ต้องรีบ ต้องไว ต้องได้ แข่งขันและแก่งแย่งกัน มีส่วนทำให้เกิดความเครียดได้บ่อยครั้งกว่าคนสมัยก่อนมาก คนกลุ่มหนึ่งจึงมีความเครียดอยู่เป็นประจำหรือเครียดเรื้อรังก็มี

ความเครียดแบบเรื้อรังอาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงอยู่ตลอด คนปกติที่ไม่เคยเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็อาจป่วยด้วยโรคนี้ได้ ยิ่งคนที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว หากมีความเครียด ความดันจะยิ่งสูงขึ้นและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากๆเพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงเฉียบพลัน โดยเฉพาะโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดในสมองแตก

การลดความเครียด จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนในยุคนี้ ผู้เขียนแนะนำให้คลายเครียดด้วยการออกกำลังกาย ดูหนังฟังเพลง อ่านหนังสือที่ชอบ หาของกินอร่อยๆ แต่ที่ได้ผลดีที่สุด ที่ช่วยลดความเครียดและความดันโลหิตได้ดี คือ การนั่งสมาธิ

การนั่งสมาธิมีหลายวิธี แตกต่างกันไปขึ้นกับผู้สอน ส่วนตัวแล้วผู้เขียนใช้คอนเซปต์ นั่งดูลมหายใจเข้าออกและปล่อยวางทุกอย่าง เพียง 30-45 นาที ก็จะรู้สึกดีขึ้น เดี๋ยวนี้มียูทูบ แนะนำให้ท่านลองค้นหาเกี่ยวกับวิธีนั่งสมาธิและทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้

อาหารเสริมลดความดันโลหิต

ตามงานวิจัยจำนวนมาก โอเมก้า 3 จัดเป็นสารอาหารที่ใช้ลดความดันโลหิตสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบได้ในทั้งพืชและสัตว์ โอเมก้า 3 ที่คนส่วนมากคุ้นเคย คือ โอเมก้า 3 ที่ได้จากการบริโภคปลาทะเล

โอเมก้า 3 ที่ได้จากการบริโภคเนื้อสัตว์หรือปลาทะเลจะเป็นชนิด EPA และ DHA ส่วนโอเมก้า 3 ที่ได้จากการบริโภคจากพืชจะเป็นชนิด ALA อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโอเมก้า 3 ที่ได้จากปลาทะเลหรือพืชก็ตาม ตามงานวิจัยล้วนแล้วแต่ช่วยลดความดันโลหิตได้ทั้งนั้น

อาหารเสริมโอเมก้า 3 ที่ช่วยลดความดันโลหิตได้จะมีอยู่ 2 ชนิดคือ

น้ำมันปลา สกัดจากปลาะทะเล จนได้น้ำมันปลาบรรจุในรูปแคปซูล ความเข้มข้นของโอเมก้า 3 จะมีมากน้อยขึ้นกับชนิดของปลาที่นำมาสกัดน้ำมัน เหมาะสำหรับผู้ที่ทานเนื้อสัตว์ได้ แต่ต้องระวังเรื่องสารปนเปื้อนหรือสารโลหะหนักในน้ำมันปลา

น้ำมันงาม่อนสกัดเย็น สกัดจากเมล็ดงาม่อน มีโอเมก้า 3 สูงถึง 50% ของน้ำหนักโดยประมาณ น้ำมันชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทานมังสวิรัติหรือทานเจ

ประโยชน์ของโอเมก้า 3 มีอยู่หลายข้อ โดยรวมแล้วตามงานวิจัย มีดังต่อไปนี้

ป้องกันการเกิดโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว
ช่วยให้ความจำดีและป้องกันโรคความจำเสื่อม
ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน
ลดความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันสูง
ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย
ป้องกันโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

สรุป

ความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องคือ อายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัวที่เกินมาตราฐาน และพฤติกรรมการกินอยู่หลับนอนที่ไม่ถูกต้อง ความเครียด และขาดการออกกำลังกาย

ผลเสียของโรคความดันโลหิตสูงมีมาก เพราะทำให้เส้นเลือดหรือหลอดเลือดเกิดการเสื่อมสภาพ แข็ง โป่งพองจนถึงขั้นฉีกขาดหรือแตกได้ ซึ่งอวัยวะในร่างกายทุกส่วนล้วนแล้วแต่มีเส้นเลือดเป็นส่วนประกอบ จึงอาจกล่าวได้ว่าโรคความดันโลหิตสูงส่งผลต่ออวัยวะทุกส่วนทั่วร่างกาย

อวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคนี้มากที่สุด คือ สมอง หัวใจ ไต ตา การรักษาความโลหิตให้อยู่ในระดับปกติจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

การรักษาและบำบัดความดันโลหิตสูงที่ได้ผลดีทีสุดโดยไม่ต้องใช้ยาคือ การปรับเปลี่ยน Lifestyle หรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร การนอนหลับพักผ่อน การลดความเครียด การออกกำลังกาย แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือกแนะนำใช้หลักการปรับเปลี่ยน Lifestyle ในการตัดวงจรของโรคความดันโลหิตสูง เพราะวิธีนี้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริงกับคนไข้จำนวนมาก

อาหารเสริมที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ โอเมก้า 3 ซึ่งพบได้ทั้งในปลาทะเลและงาม่อน อาหารเสริมโอเมก้า 3 มีอยู่ในรูปของน้ำมันปลาและน้ำมันงาม่อน

อ้างอิง

http://www.webmd.com/hypertension-high-blood-pressure/guide/hypertension-symptoms-high-blood-pressure

http://emedicine.medscape.com/article/241381-overview
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMHT0024199/
http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/basics/definition/con-20019580
https://www.khanacademy.org/science/health-and-medicine/circulatory-system-diseases/hypertension/v/hypertension-effects-on-the-heart
http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/stress/art-20046037
http://www.si.mahidol.ac.th/sdc/admin/knowledges_files/8_44_1.pdf