งานวิจัยทางคลินิก (คำว่าทางคลินิกคือ มีการทดลองในคนจริงๆ) แสดงให้เห็นว่ากรดไขมันอิ่มตัวความยาวปานกลางในน้ำมันมะพร้าว มีส่วนช่วยและรักษาอาการหรือโรคชนิดต่างๆได้ ดังต่อไปนี้
ป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันเส้นเลือด และโรคอัมพฤกษ์จากเส้นเลือดในสมองตัน ตีบหรือแตก
ป้องกันและบรรเทาโรคเบาหวานและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
ป้องกันโรคกระดูกพรุน
ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกิน
ฆ่าเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคหัด ไวรัสโรคเริม ไวรัสเอดส์ และไวรัสก่อโรคชนิดอื่น
ลดอาการของโรคที่เกียวข้องกับตับอ่อน
ลดปัญหาของโรคการดูดซึมอาหารทางลำไส้ไม่ปกติ
บรรเทาอาการของโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ
ลดอาการที่เกียวข้องกับโรคทางเดินอาหารอักเสบโครนห์ ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรังและโรคกระเพาะอาหาร
บรรเทาความเจ็บปวดและระคายเคืองที่เกิดจากโรคริดสีดวงทวารหนัก
ลดการอักเสบเรื้อรัง
ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
ป้องกันโรคเหงือกอักเสบและฟันผุ
ป้องกันภาวะแก่ก่อนวัยและโรคที่เกิดจากความเสื่อม
บรรเทาอาการอ่อนล้าเรื้อรัง
บรรเทาอาการต่อมลูกหมากโต
ลดภาวะการเกิดโรคลมชัก
ป้องกันการติดเชื่อในไตและทางเดินปัสสาวะ
ป้องกันการเกิดโรคตับ
ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์คินสัน โรคออทิสติกและโรคที่เกี่ยวข้องความผิดปกติของระบบประสาท
ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวม โรคปวดหู โรคติดเชื้อที่ลำคอ แบคทีเรียในช่องปาก อาหารเป็นพิษ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
ฆ๋าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของตกขาวที่เกิดจากเชื้อรา โรคสังคัง กลาก น้ำกัดเท้า เชื้อราในช่องปาก ผื่นผ้าอ้อม และอื่นๆ
ขับไล่และกำจัดพยาธิตัวตืด เหาและปรสิตทุกชนิด
ระงับยับยั้งการติดเชื้อที่ผิวหนัง
ลดอาการที่เกียวข้องกับสะเก็ดเงิน ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังผื่นคัน
ลดการผิวหนังแห้งและตกสะเก็ด
ป้องกันรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ ที่มีผลทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น มีริ้วรอยและแก่ก่อนวัย
ช่วยควบคุมและกำจัดรังแคบนหนังศีรษะ
ทำไมน้ำมันมะพร้าวถึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
น้ำมันมะพร้าวได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในน้ำมันที่มีประโยชน์และปลอดภัยต่อร่างกายคนเรามากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
91% ของน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันอิ่มตัว ที่มีความทนทานต่อการทำปฏิกิริยากับอากาศ แสง ความร้อน (Oxidation) ทำให้น้ำมันชนิดนี้เกิดสารพิษหรืออนุมูลอิสระได้ยาก น้ำมันมะพร้าวแม้ผ่านความร้อนถึง 180 องศาเซลเซียส ก็ยังจัดเป็นน้ำมันที่เกิดสารพิษต่อร่างกายน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับน้ำมันพืชทุกชนิดในโลก
ุ
62% ของน้ำมันมะพร้าวประกอบไปด้วยกรดไขมันสายยาวปานกลาง (Mudium-Chain-Fatty-Acids) ที่มีชือว่า กรดลอริก กรดคาพริค กรดคาพริลิค ซึ่งเป็นกรดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพตามงานวิจัยจำนวนมาก
กรดไขมันในน้ำมันมะพร้าวย่อยและเผาผลาญได้ง่าย ร่างกายใช้พลังงานในการเผาผลาญต่ำและสามารถนำไปใช้และให้พลังงานกับเซลล์ได้ไว
กรดไขมันในน้ำมันมะพร้าวไม่การเก็บเป็นไขมันใต้ผิวหนังหรือเก็บเป็นพุง
น้ำมันมะพร้าว บริโภคอย่างไรได้ประโยชน์สูงสุด
ปริมาณในการดื่มน้ำมันมะพร้าว มากน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล เพราะแต่ละคนมีปัญหาและพื้นฐานสุขภาพไม่เหมือนกัน บางท่านอาจเพียงต้องการป้องกันโรค บางท่านต้องการบำรุงสุขภาพและบางท่านต้องการบรรเทาอาการหรือรักษาโรคบางอย่าง
หลักสำคัญในการใช้น้ำมันมะพร้าวที่เราควรคำนึงถึงคือ ความพอดี ซึ่งคำว่าพอดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีการที่ใช้พิจารณาปริมาณการทานน้ำมันมะพร้าวจะมีอยู่ 5 ข้อดังต่อไปนี้
ดื่มน้ำมันมะพร้าวตามน้ำหนักตัว น้ำหนักตัวมากให้ทานมาก น้ำหนักตัวน้อยให้ทานน้อย เพราะคนน้ำหนักตัวมากต้องการสารอาหารมากกว่าคนน้ำหนักตัวน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว
ดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วท้องไม่เสียหรือระบายมากเกินไป น้ำมันมะพร้าวมีสรรพคุณเป็นยาระบาย แต่ละคนมีความทนหรือรับต่อน้ำมันมะพร้าวได้ไม่เท่ากัน ถ้าทานแล้วมีอาการท้องเสียควรลดปริมาณลง
ดื่มน้ำมันมะพร้าวตามปริมาณไขมันที่บริโภคต่อวัน มีงานวิจัยบางชิ้นแนะนำให้ทานน้ำมันมะพร้าว 40% ของไขมันทั้งหมดที่บริโภคต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่คำนวณได้ค่อนข้างยากสำหรับคนทั่วไป ง่ายที่สุดคือ พยายามทานน้ำมันมะพร้าวให้มากกว่าน้ำมันชนิดอื่นก็พอใช้ได้แล้ว พยายามงดทานของผัดของทอดที่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าใช้น้ำมันอะไร
ถ้าเรามีปัญหาสุขภาพจริงๆควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวก่อนบริโภคจะได้ประโยชน์และตรงประเด็นมากกว่า เพราะการบริโภคน้ำมันมะพร้าวในแต่ละโรคค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น กรณีของอัลไซเมอร์อาจจะต้องบริโภค 5-7 ช้อนโต๊ะวันละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นปริมาณเฉพาะ และไม่ค่อยมีใครทานกัน ถ้าหากต้องการลดน้ำหนักอาจทานแค่เพียงครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง เป็นต้น
ในกรณีทั่วไป เบื้องต้นแนะนำให้ทานน้ำมันมะพร้าวครั้งละ 1/2 ช้อนโต๊ะหรือ 1 ช้อนโต๊ะ เป็นพื้นฐาน ถ้าทานแล้วไม่มีอาการท้องเสียหรืออาการอื่นๆให้ทานในปริมาณนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้น ค่อยเพิ่มปริมาณเป็น 1-2 ช้อนโต๊ะในภายหลัง
น้ำมันมะพร้าวดูคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน
ท่ามกลางตลาดน้ำมันที่มีการแข่งขันสูง น้ำมันมะพร้าวก็เป็นน้ำมันอีกชนิดหนึ่งที่มีผู้ผลิตหลายรายเข้ามาแข่งขันและทำการตลาด น้ำมันมะพร้าวดูเผินๆแบบไม่คิดอะไรมากก็เหมือนกันหมด กล่าวคือ สีเหมือนกัน สกัดจากมะพร้าวเหมือนกัน ใช้บริโภคหรือทำอาหารได้เหมือนกัน จะแตกต่างกันก็บรรจุภัณฑ์เท่านั้นเอง
จริงๆแล้วน้ำมันมะพร้าวแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน เพียงแต่คนทั่วไปไม่ทราบ ก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะได้มาศึกษาเรื่องน้ำมันมะพร้าวก็เหมือนท่านผู้อ่านทุกท่าน คือ ไม่รู้จะเลือกยี่ห้อไหนดีและคิดว่าน้ำมันมะพร้าวเหมือนกันหมด ก็เลยเลือกแบบที่ราคาถูกที่สุด และก็มาเจอกับตัวเองเมื่อนำน้ำมันมะพร้าวที่เราคิดว่าดีไปประกอบอาหาร
น้ำมันมะพร้าวสำหรับทำอาหารที่ผู้เขียนเคยใช้ มันไม่ค่อยแข็งตัว คือ ช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ (น้ำมันมะพร้าวจะแข็งตัวเมื่ออยู่ภายใต้อุณหภูมิต่ำก่วา 25 องศาเซลเซียส) น้ำมันมะพร้าวจะแข็งตัวหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เป็นไข” เพราะโดยปกติแล้วน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวสูงถึง 80% แต่น้ำมันมะพร้าวสำหรับทำอาหารที่ผู้เขียนได้ซื้อมาใช้มันเป็นไขเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่เป็นเลย ซึ่งผิดจากธรรมชาติของน้ำมันมะพร้าวคุณภาพดี (เอาจริงๆไม่แน่ใจเหมือนกันว่าน้ำมันมะพร้าวจริงหรือเปล่า? คิดอยู่ในใจว่าน่าจะผสมอะไรบางอย่าง ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนยี่ห้อใหม่)
ที่เล่าให้ฟังเพราะผู้เขียนต้องการบอกว่า น้ำมันมะพร้าวดูเหมือนกันแต่จริงๆแล้วไม่เหมือนกัน เราต้องเลือกใช้ให้เป็นจึงจะปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
คุณภาพของน้ำมันมะพร้าววัดกันที่ไหน? คำตอบคือวัดกันที่สารอาหารที่มีมากในน้ำมันรวมถึงความเป็นธรรมชาติมาก กล่าวคือ ผ่านกระบวนการในการสกัดน้อย ผ่านความร้อนน้อย โดยไม่มีการใช้สารเคมีหรือสารอื่นในกระบวนการสกัดน้ำมัน
สิ่งที่เราควรพิจารณาเมื่อซื้อน้ำมันมะพร้าว
แน่นอนว่าเราทุกคนต้องการได้ของคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมถูกต้องไหมครับ? น้ำมันมะพร้าวก็เหมือนกับสินค้าหลายๆชนิดที่มีหลายเกรด ขึ้นอยู่กับแหล่งวัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต
แหล่งวัตถุดิบ
วัตถุดิบในการทำน้ำมันมะพร้าวคือ เนื้อมะพร้าว ซึ่งมะพร้าวในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมาจากหลายจังหวัดทั้งทางภาคใต้ เช่น สุราษฏร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ทางภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ระยอง และทางภาคตะวันตก เช่น สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
ถามว่ามะพร้าวภาคไหนดีกว่า ผู้เขียนตอบตามตรงว่าไม่ทราบครับ ความเห็นส่วนตัวคิดว่าถ้านำมาสกัดน้ำมันแล้วไม่น่าจะต่างกันมากนัก
ประเด็นที่เราควรให้ความใส่ใจ คือ มะพร้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์หรือออแกนิกส์ ที่ใช้ปุ๋ยและการกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงที่ทำจากสารเคมีกับมะพร้าวที่ปลูกแบบเกษตรสมัยใหม่ที่ยังใช้สารเคมีไม่ว่าจะเป็นส่วนของปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง ถ้าเลือกได้ ให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวที่เป็นแบบออแกนิกส์จะดีกว่าครับ
วิธีการผลิตน้ำมันมะพร้าว
ถ้าจะให้ผู้เขียนอธิบายถึงวิธีการผลิตน้ำมันมะพร้าวแบบละเอียด คงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับผู้เขียนและผู้อ่าน ความยุ่งยากของผู้เขียนคือ ผู้เขียนรู้หลักการผลิตน้ำมันมะพร้าวบ้าง แต่ไม่ได้ทราบรายละเอียดมากนัก ทราบเพียงแต่ว่าจุดสำคัญที่เราควรพิจารณาและใส่ใจอยู่ตรงไหน ความยุ่งยากของผู้อ่านคือ ถ้าผู้เขียนอธิบายวิธีผลิตน้ำมันมะพร้าวแบบลงลึกรายละเอียดมากเกินไปจะเข้าใจยากและค่อนข้างน่าเบือ อีกทั้งไม่มีความจำเป็นที่เราต้องรู้รายละเอียดมากมาย เราก็สามารถเลือกใช้น้ำมันมะพร้าวที่ดีต่อสุขภาพได้เหมือนกัน
วิธีผลิตน้ำมันมะพร้าว มีอยู่หลายวิธีขึ้นกับวิธีการเฉพาะของผู้ผลิต แต่ถ้าจับประเด็นสำคัญได้ตามความเห็นของผู้เขียน สิ่งที่เราสามารถใช้พิจารณาคุณภาพของน้ำมันได้ง่ายๆมีดังต่อไปนี้
การสกัด
การสกัดน้ำมันมะพร้าวมีอยู่หลักๆ 3 วิธี คือ
สกัดเย็น (Cold Pressed) การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจะใช้วิธีหมุนเหวี่ยง (Centrifuge อ่านว่า เซนตริฟิวก์) โดยนำเนื้อมะพร้าวมาทำเป็นน้ำกะทิเสียก่อน จากนั้นจะนำน้ำกะทิไปเหวี่ยงเพื่อให้เกิดการแยกชั้นระหว่างน้ำมันกับน้ำ เสร็จแล้วก็ตักแยกน้ำมันออกมา น้ำมันที่ได้จากมีสีขาวใสเหมือนน้ำเปล่า ปริมาณน้ำมันที่ได้ไม่มาก ส่งผลให้น้ำมันมะพร้าวชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง
สกัดโดยใช้ความร้อน จะใช้วิธีหมุนเหวี่ยงหรือบีบเนื้อมะพร้าว โดยใช้ความร้อนเข้าช่วย เพราะความร้อนจะช่วยให้น้ำมันออกจากเนื้อมะพร้าวได้ดีขึ้น ปริมาณน้ำมันจะได้มากกว่าแบบสกัดเย็น แต่คุณค่าทางอาหารหรือกรดไขมันอิ่มตัวจะน้อยกว่า น้ำมันมะพร้าวที่ได้จะมีสีเหลืองเพราะผ่านความร้อน
สกัดโดยใช้ความร้อน + ตัวทำละลาย จะใช้วิธีผสมสารละลายที่มีชื่อว่า เฮกเซน (Hexane) ลงในเนื้อมะพร้าว เฮกเซนจะทำให้สกัดน้ำมันมะพร้าวได้ปริมาณมากกว่าวิธีอื่น ต้นทุนการผลิตต่ำ ส่งผลให้น้ำมันมีราคาถูก (แน่นอนว่าผู้ผลิตต้องมีกำไรเพิ่มขึ้น) น้ำมันที่ได้จะมีสีเหลือง อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว ผู้ผลิตจำเป็นต้องแยกเฮกเซนออกจากน้ำมันด้วยวิธีการระเหยเอาเฮกเซนออกไป ดังนั้น ข้อเสียของการสกัดน้ำมันด้วยวิธีนี้จึงมีมาก เพราะต้องใช้ทั้งความร้อนและสารเคมี ส่งผลให้น้ำมันมะพร้าวมีคุณค่าทางอาหารที่ลดลง รวมถึงน้ำมันมะพร้าวที่ได้เคยผ่านการผสมด้วยตัวทำละลายที่เป็นสารเคมี ซึ่งถ้าเราทราบแบบนี้คงไม่ค่อยอยากจะบริโภคน้ำมันที่สกัดด้วยวิธีนี้เท่าไหร่ จริงไหมครับ? (แม้ทางวิทยาศาสตร์จะบอกว่าปลอดภัยก็เถอะ)
การทำให้น้ำมันมะพร้าวให้บริสุทธิ์
กระบวนการทำให้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ คือ การแยกเอาตะกอน สารเคมีที่ผสม น้ำ กลิ่นและรสชาติของน้ำมันมะพร้าวที่ได้จากกระบวนการสกัดให้หมดไป ทำให้น้ำมันมะพร้าวที่ได้มีความบริสุทธิ์มากขึ้น
การทำให้บริสุทธิ์ในแต่ละผู้ผลิตมีระดับที่แตกต่างกัน ในบางผู้ผลิตอาจกรองเพียงเอาตะกอนออกจากน้ำมัน บางผู้ผลิตอาจเติมสารเคมีบางตัวเพื่อกำจัดกรดไขมันอิสระที่เป็นสาเหตุของน้ำมันเสื่อมคุณภาพ ยิ่งทำให้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มาก ต้องใช้สารเคมีหลายชนิดและความร้อนมาก ส่งผลให้คุณค่าทางอาหารลดลง น้ำมันที่ได้จะมีสีใสเหมือนน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น แต่ไม่มีกลิ่นหรือรสชาติของมะพร้าวเหลืออยู่หรือเหลืออยู่น้อยมาก
การทำให้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ อาจทำให้น้ำมันดูดี กล่าวคือ ใสสะอาด ไม่มีตะกอน เสื่อมคุณภาพได้ยาก แต่จริงๆแล้วยิ่งเราทำให้น้ำมันบริสุทธิ์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากเท่าไหร่ เรายิ่งได้น้ำมันที่ผ่านสารเคมีและความร้อนมาก ซึ่งหมายถึง น้ำมันมะพร้าวที่มีคุณค่าทางอาหารน้อยลง และประโยชน์ที่ได้ต่อร่างกายน้อยลงนั่นเอง
น้ำมันมะพร้าวที่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์มักจะมีคำว่า Refined แสดงบนฉลาก ถ้าน้ำมันมะพร้าวไม่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์อาจจะมีคำว่า Unrefined ครับ (แต่บางบริษัทก็ไม่ได้ระบุ)
ประเภทของน้ำมันมะพร้าวที่จำหน่ายในประเทศไทย
น้ำมันมะพร้าวตามท้องตลาดที่มีจำหน่าย จะแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆคือ
Virgin Coconut Oil หรือ Extra Virgin Coconut Oil
เป็นน้ำมันที่สกัดด้วยกรรมวิธีสกัดเย็นจากเนื้อมะพร้าวสด โดยน้ำเนื้อมะพร้าวบดและผสมน้ำเพื่อแปรรูปเป็นกะทิก่อน จากนั้นค่อยนำกะทิที่ได้ไปเหวี่ยงเพื่อให้เกิดการแยกชั้นระหว่างน้ำมันกับน้ำแบบไม่ใช้ความร้อน โดยที่น้ำมันจะลอยอยู่เหนือน้ำเพราะมีความหนาแน่นน้อยกว่า จากนั้นก็แยกน้ำมันออกจากน้ำด้วยวิธีการดูดออก น้ำมันจะมีสีขาวใสเหมือนน้ำ น้ำมันมะพร้าวประเภทนี้จะไม่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์หรือ Refine จึงทำให้มีคุณค่าทางอาหารสูงและมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด (มีกรดไขมันอิ่มตัวสายยาวปานกลางและสารต้านอนุมูลอิสระสูง)
แม้ Virgin Coconut Oil จะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากและมีคุณค่าทางอาหารสูง เหมาะสำหรับทานสดหรือประกอบอาหาร แต่ก็มีข้อเสียอยู่เช่นกันคือ
ราคาค่อนข้างสูง ขนาดบรรจุ 1,000 มิลลิลิตร (หรือ 1 ลิตร) จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 550-600 บาท อาจถูกหรือแพงกว่านี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย ผู้เขียนเคยซื้อน้ำมันชนิดนี้ไปประกอบอาหาร ผลที่ได้คือ หมดไวมากทั้งน้ำมันและเงินครับ
น้ำมันมีกลิ่นและรสมะพร้าวชัดเจน คนที่ไม่ชอบกลิ่นมะพร้าวจะทานน้ำมันประเภทนี้ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปประกอบอาหาร จะมีกลินมะพร้าวที่ค่อนข้างแรง
Cooking Coconut Oil หรือน้ำมันมะพร้าวสำหรับทำอาหาร
เป็นน้ำมันที่สกัดด้วยกรรมวิธีใช้ความร้อนจากเนื้อมะพร้าว มักจะใช้เนื้อมะพร้าวที่ผ่านการสกัดเย็นมาแล้ว (เนื้อมะพร้าวมือสอง) อาจมีการผสมตัวทำละลายอย่างเช่น เฮกเซน เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำมันที่มากขึ้น มีทั้งแบบที่ทำให้บริสุทธิ์ (Refined) และไม่ได้ทำให้บริสุทธิ์ (Unrefined) น้ำมันที่ได้จะมีสีเหลือง
น้ำมันประเภทนี้มีข้อดีคือ มีกลิ่นและรสมะพร้าวที่น้อยมากหรือไม่มีเลย ประกอบกับมีราคาค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับ Virgin Coconut Oil กล่าวคือ 1,000 มิลลิลิตรหรือ 1 ลิตร จะมีราคาอยู่ที่ 100 – 200 บาทเท่านั้น แต่ก็มีข้อเสียดังต่อไปนี้
การผลิตต้องผ่านความร้อนทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง
กระบวนการผลิตอาจมีการใช้ตัวทำละลาย เพื่อให้ได้น้ำมันในปริมาณมาก
น้ำมันประเภทนี้ส่วนมากจะต้องผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ (Refined) ทำให้ต้องผ่านความร้อนและใช้สารเคมีหลายชนิด
ดังนั้น น้ำมันมะพร้าวสำหรับทำอาหารที่ราคาถูก อาจมีคุณภาพดีไม่เท่ากับน้ำมันมะพร้าวสำหรับทำอาหารที่ราคาสูงหน่อย เพราะน้ำมันมะพร้าวที่ราคาสูง ผู้ผลิตจะไม่ใช้ตัวทำละลายในการสกัด จะใช้วิธีการเหวี่ยงภายใต้ความร้อน ส่งผลให้น้ำมันที่สกัดได้มีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ตัวทำละลาย และไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการทำให้บริสุทธิ์ (Unrefined) ทำให้ไม่ต้องผ่านความร้อนและสารเคมีใดๆอีก คุณค่าทางอาหารและความปลอดภัยจึงมีมากกว่าน้ำมันที่ใช้ตัวทำละลายและผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์
วิธีการเลือกใช้น้ำมันมะพร้าว
แนวทางการเลือกใช้น้ำมันมะพร้าวแบบง่ายๆแต่ให้ได้ผลดี
ถ้าทานสดแนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าวประเภท Virgin Coconut Oil ซึ่งมีจำหน่ายทั้งแบบบรรจุขวดและแบบแคปซูล คนที่ชอบทานน้ำมันมะพร้าวได้โดยตรงให้เลือกใช้แบบขวด ส่วนใครที่ไม่ชอบกลิ่นและรสของน้ำมันมะพร้าวให้เลือกใช้แบบแคปซูลทดแทนได้
ถ้าใช้ทาผิว บำรุงเส้นผม หมักผม ให้ใช้น้ำมันมะพร้าว Virgin Coconut Oil แบบขวด
ถ้าใช้ประกอบอาหาร สามารถใช้ได้ทั้งแบบ Virgin Coconut Oil และแบบ Cooking Coconut oil ขึ้นกับงบประมาณที่แต่ละท่านมี ในส่วนของ Cooking Coconut Oil พยายามเลือกใช้แบบ Unrefined ซึ่งมักจะระบุอยู่ในฉลาก(แต่บางยี่ห้อก็ไม่ระบุ) ยี่ห้อไหนที่ระบุว่า Refined ที่ฉลากมักจะใช้เฮกเซนเป็นตัวทำละลาย ราคาจะถูกมาก ถ้าไม่จำเป็นจริงๆไม่ควรบริโภค ควรเลือกเอาที่ราคาสูงหน่อย จะปลอดจากสารเคมีและดีต่อสุขภาพมากกว่า
น้ำมันมะพร้าวที่ดีมักจะราคาสมเหตุสมผล ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันมะพร้าวที่ราคาถูกมาก เพราะกระบวนการผลิตมักใช้ความร้อนและสารเคมีหลายชนิด ซึ่งการบริโภคน้ำมันมะพร้าวประเภทนี้ อาจจะมีผลเสียต่อสุขภาพได้ในระยะยาว
สรุป
น้ำมันมะพร้าวมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างหลากหลายและมากมายมหาศาล การบริโภคน้ำมันมะพร้าวไม่ว่าจะใช้กินสด ใช้ทาผิว บำรุงผม หรือแม้กระทั่งประกอบอาหาร ย่อมเป็นทางเลือกที่ฉลาดและดี เพราะจะช่วยบำรุงและดูแลสุขภาพของเราได้ในระยะยาว น้ำมันมะพร้าวใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนชรา แถมราคาก็พอซื้อหามาใช้ได้กับคนทุกบ้านทุกครอบครัว
การเลือกใช้น้ำมันมะพร้าว ให้เลือกใช้น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เพราะเป็นชนิดที่ผ่านกระบวนการน้อย มีความเป็นธรรมชาติมากและที่มีคุณค่าทางอาหารมากที่สุด พยายามหลีกเลี่ยงน้ำมันมะพร้าวที่สกัดโดยใช้ตัวทำลายละลายและ/หรือผ่านการทำให้บริสุทธิ์ เพราะนอกจากจะทำให้ประโยชน์ต่อสุขภาพหรือคุณค่าทางอาหารของน้ำมันมะพร้าวลดลงแล้ว สารเคมีที่ใช้ในกระบวนสกัดน้ำมันหรือทำให้บริสุทธิ์ ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เพราะอาจมีสารเคมีหลงเหลือและน้ำมันบางส่วนอาจเกิดการเปลี่ยนโครงทางเคมีกลายเป็น “ไขมันทรานส์” หรือ “ไขมันผ่านกรรมวิธี” ซึ่งการบริโภคไขมันชนิดนี้เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันเส้นเลือด และนำไปสู่การป่วยเป็นโรคหัวใจ และการเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตันตีบแตกได้