เนื้อมะพร้าว
มะพร้าวได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งอาหาร มะพร้าวถูกใช้เป็นอาหารเพื่อความมีอายุยืนและใช้เป็นยาในการบำรุงรักษาสุขภาพ คนสมัยโบราณเชื่อว่า การบริโภคมะพร้าวเป็นเคล็ดลับของการมีสุขภาพดีและมีอายุยืน
เนื้อมะพร้าวแก่หรือลูกมะพร้าวที่โตเต็มที่จะมีเนื้อค่อนข้างแข็ง สีขาว มีรสหวานเล็กน้อยบวกกับรสชาติที่คล้ายถั่ว สำหรับมะพร้าวอ่อนจะมีรสหวาน เนื้อนุ่มกว่ามากคล้ายกับเยลลี่หรือเจลาติน เราสามารถใช้ช้อนตักกินเนื้อมะพร้าวอ่อนได้ บ่อยครั้งที่มะพร้าวอ่อนถูกใช้เป็นอาหารสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก เพื่อเสริมหรือทดแทนการดื่มน้ำนมแม่ เนื้อมะพร้าวแก่จะมีความแข็งและหนาตามอายุของมัน มะพร้าวอ่อนจะบูดหรือเสียได้ง่าย ดังนั้น สมัยก่อนในประเทศที่ไม่ค่อยมีต้นมะพร้าว จะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้บริโภคมะพร้าวอ่อน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ด้วยการขนส่งที่ทันสมัยและระบบการรักษาความสดของอาหารที่พัฒนาไปไกล ทำให้ประชากรในประเทศที่ไม่ค่อยมีต้นมะพร้าว สามารถหาซื้อและบริโภคมะพร้าวอ่อนได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
อาหารที่เป็นยา
เนื้อมะพร้าวมีสรรพคุณหรือคุณสมบัติทางยาคล้ายกับน้ำมันมะพร้าว มากกว่าที่จะเป็นเพียงอาหารทั่วไปเท่านั้น เหตุผลเนื้อมะพร้าวแก่มีคุณสมบัติทางยาคล้ายกับน้ำมันมะพร้าวก็เพราะว่า เราสกัดน้ำมันมะพร้าวจากเนื้อมะพร้าวนั่นเอง 34% โดยน้ำหนักของเนื้อมะพร้าวจะเป็นน้ำมันหรือไขมัน การสกัดน้ำมันมะพร้าวจากเนื้อมะพร้าวจึงทำให้ได้น้ำมันในปริมาณมาก
เนื้อมะพร้าวสดประกอบไปด้วยน้ำ 47% หลังจากที่ตากแห้งแล้วจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 3% เท่านั้น เนื้อมะพร้าวตากแห้งจะมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบในสัดส่วนที่มากขึ้น คือ ประมาณ 64% ดังนั้น การบริโภคเนื้อมะพร้าวไม่ว่าจะแบบสดหรือแบบแห้งก็ช่วยเพิ่มไขมันชนิดดีให้ร่างกายได้ทั้งนั้น
composition of coconut table
ต่างจากน้ำมะพร้าว ส่วนประกอบหลักของเนื้อมะพร้าวคือ ใยอาหาร(Fiber) และไขมัน (Fat) การบริโภคเนื้อมะพร้าวโดยตรงจะดีกว่าน้ำมันมะพร้าวนิดหน่อยตรงที่ได้ใยอาหารด้วย (แต่ส่วนมากจะกินกันเยอะๆไม่ค่อยไหว เพราะเนื้อมะพร้าวทานแล้วอิ่มไวและอิ่มนานครับ)
สารอาหารที่เรียกว่า “คาร์โบไฮเดรต” มีอยู่ 2 ประเภท คือ
คาร์โบไฮเดรตแบบที่ย่อยได้ (Digestible) เช่น ข้าว แป้ง เผือก มัน น้ำตาล ที่ให้พลังงานแก่ร่างกายหลังผ่านระบบย่อยและเผาผลาญแล้ว
คาร์โบไฮเดรตแบบที่ย่อยไม่ได้ (Non-digestible) คือ ใยอาหารชนิดต่างๆ ซึ่งร่างกายย่อยไม่ได้ให้พลังงานเป็นศูนย์
เนื้อมะพร้าวมีคาร์โบไฮเดรตแบบย่อยได้น้อย ส่วนมากจะเป็นใยอาหารหรือคาร์โบไฮเดรตแบบย่อยไม่ได้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการบริโภคอาหารพลังงานต่ำ
เนื้อมะพร้าวสดขูด 80 กรัมจะมีคาร์โบไฮเดรตแบบที่ย่อยได้ 3 กรัมและมีคาร์โบไฮเดรตแบบที่ย่อยไม่ได้หรือใยอาหารถึง 6 กรัม
เนือมะพร้าวแห้งขูด 80 กรัมจะมีคาร์โบไฮเดรตแบบที่ย่อยได้ 7 กรัมและมีคาร์โบไฮเดรตแบบที่ย่อยไม่ได้หรือใยอาหาร 12 กรัม
เนื้อมะพร้าวจึงเป็นอาหารพลังงานต่ำอย่างดี
ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของอเมริกา เนื้อมะพร้าวสดมีใยอาหารถึง 71% ของปริมาณคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด สูงกว่ารำข้าวสาลีที่มีใยอาหาร 42% และถั่วเหลือง 29%
ทำไมใยอาหารจึงมีประโยชน์ต่อร่างกาย
คนส่วนมากทราบกันดีอยู่แล้วว่า การบริโภคใยอาหารเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทางเดินอาหาร การบริโภคใยอาหารที่น้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น โรคริดสีดวงทวารหนักและเส้นเลือดดำโป่งพองบริเวณทวารหนัก โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคไส้เลื่อน ซึ่งแต่ละโรคที่ได้กล่าวไปนั้น ล้วนมีสาเหตุมาจากความเครียดของลำไส้ใหญ่ที่ต้องดันเอาอุจจาระที่เป็นก้อนแข็งออกจากร่างกาย
ใยอาหารมีความสำคัญเพราะช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ใยอาหารมีความอ่อนนุ่ม ดูดซับน้ำได้ดี จึงทำหน้าที่เป็นเครื่องทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ที่คอยเก็บกวาดสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ และขับถ่ายออกมาในรูปของอุจจาระ
อุจจาระหรือของเสียในลำไล้ใหญ่ นอกจากจะประกอบไปด้วยใยอาหารแล้ว ยังมีแบคทีเรีย สารคัดหลั่งจากลำไส้ รวมถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ที่ตายแล้ว
อาหารที่ผ่านการย่อยจากปาก กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก จะกลายเป็นของเสียมีลักษณะเหลวเหมือนซุป และเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ เพื่อทำการดูดน้ำออกจากของเสีย ถ้าเราเป็นคนที่ทานใยอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ของเสียจะเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้ของเสียอ่อนนุ่ม ถ่ายดี ถ่ายง่ายและลำไส้ใหญ่ไม่มีของเสียตกค้าง
ในทางตรงกันข้าม หากเราบริโภคใยอาหารน้อยเกินไป ของเสียจะผ่านลำไส้ใหญ่ไปอย่างช้าๆ ยิ่งอยู่ในลำไส้ใหญ่นาน ของเสียหรืออุจจาระยิ่งมีความแข็ง เพราะถูกดูดน้ำออกไปมาก พอของเสียแข็ง ก็ทำให้ถ่ายยาก ถ่ายลำบาก ต้องออกแรงเบ่งมาก ส่งผลให้ช่องท้องต้องออกแรงมาก จนอาจเป็นไส้เลื่อน รูทวารขยายและถูกเสียดสีจนเกิดเส้นเลือดดำบวม จนถึงขั้นเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก
ผู้ทีทานใยอาหารน้อย ย่อมมีของเสียสะสมอยู่ในลำไส้ปริมาณมาก ทำให้ลำไส้ใหญ่ขยายมากเกินพอดีและอาจเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ มีของเสียค้างตามผนังลำไส้มาก ลำไส้ไม่สะอาด ร่างกายก็ดูดเอาน้ำจากของเสียกลับเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้มีกลิ่นปาก กลิ่นตัว สุขภาพไม่ดี และมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะลำไส้ไม่สะอาด เป็นได้ตั้งแต่โรคภูมิแพ้ที่เป็นเพียงโรคเรื้อรัง จนถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับที่ 3 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น
ลำไส้ใหญ่สุขภาพดีเพราะใยอาหาร
แม้เราจะไม่ได้รับสารอาหารใดๆจากใยอาหาร แต่ใยอาหารที่มากพอจะช่วยสร้างแบคทีเรียชนิดดีให้เกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่ คำว่าชนิดดีคือ มีประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกาย รวมทั้งคอยควบคุมแบคทีเรียชนิดไม่ดีและเชื้อราในลำไส้ด้วย
ประโยชน์ของแบคทีเรียชนิดดีที่น่าสนใจ คือ ความสามารถในการสังเคราะห์กรดไขมันสายสั้น (Short Chain Fatty Acids) ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งกรดไขมันชนิดนี้มีประโยชน์ต่อเซลล์ลำไส้ โดยเป็นกรดที่ให้พลังงานและช่วยเพิ่มระบบการเผาผลาญของร่างกาย รวมถึงช่วยกำจัดแบคทีเรีย เชื้อราหรือจุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อร่างกายด้วย
ใยอาหารช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
การบริโภคใยอาหารให้พลังงานเป็นศูนย์ ไม่ทำให้หนักตัวเพิ่ม ใยอาหารมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำได้ดี ผู้ที่บริโภคใยอาหารจึงมีความรู้สึกอิ่มเร็ว อิ่มนาน และทานอาหารได้น้อยลงโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้ร่างกายได้รับพลังงานจากอาหารน้อยลงตามไปด้วย ใยอาหารจึงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักอย่างแท้จริง
ข้อสรุปจากงานวิจัยบ่งชี้ว่า การบริโภคใยอาหารเพิ่มขึ้นวันละ 14 กรัม (เนื้อมะพร้าวประมาณวันละ 1-2 ลูก หรือแป้งมะพร้าววันละครึ่งถ้วย) จะช่วยลดแคลอรี่จากอาหารได้ถึงวันละ 10% ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงตามไปด้วย
งานวิจัยที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นชาวเกาะจำนวน 203 คน ช่วงอายุ 20-86 ปี พบว่าคนเหล่านี้ไม่มีปัญหาน้ำเกินมาตราฐาน แม้จะบริโภคตามใจตัวเอง สาเหตุเพราะชาวเกาะบริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูงอย่างเช่น มะพร้าว เป็นประจำ
ใยอาหารช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและเบาหวาน
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่รักสุขภาพทุกคน อาหารที่เราบริโภคเข้าสู่ร่างกายมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรง คนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วจะทราบดีที่หมอจะกำชับให้พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานหรือทานแต่น้อย
อาหารรสหวานทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในคนปกติร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน เพื่อจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดให้เข้าสู่ภาวะปกติ โดยนำน้ำตาลส่วนเกินเข้าสู่เซลล์ แต่ในกรณีของคนที่เป็นเบาหวาน ร่างกายจะมีปัญหาในการจัดการระดับน้ำตาลในเลือด กล่าวคือ แม้ร่างกายจะหลั่งอินซูลินออกมาแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดก็ไม่ได้ลดลงจนเป็นปกติ หรือเรียกว่า มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับคนที่เป็นเบาหวาน
ของหวานใครๆก็ชอบ แต่ถ้าเป็นเบาหวานแล้วอยากทานของหวานบ้าง จะทำอย่างไรดี?
โชคดีที่ใยอาหารเป็นคำตอบสำหรับเรื่องนี้
การบริโภคของหวานพร้อมๆกับอาหารที่มีใยอาหารเพียงพอจะช่วยชะลอระดับน้ำตาลในเลือดให้เพิ่มขึ้นอย่างช้าและค่อยเป็นค่อยไป เพราะใยอาหารจะไปช่วยชะลอการเผาผลาญอาหารที่มีน้ำตาลให้ช้าลง ร่างกายก็ดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดแบบช้าๆ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงแบบพุ่งพรวดจนเกิดอันตรายตามมา
งานวิจัยชิ้นหนึ่งแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นเบาหวานและกลุ่มที่ร่างกายปกติ ให้บริโภคขนมหวานในรูปแบบเค้กชนิดต่างๆ เช่น เค้กบราวนี่ เค้กแครอท มาการอง ขนมปังซินนามอน โดยให้บริโภคใยอาหารจากมะพร้าวร่วมด้วย ผลที่ได้คือ ระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ในผู้ป่วยเบาหวานการบริโภคใยอาหารจากมะพร้าวในปริมาณที่เพียงพอ จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ใกล้เคียงคนปกติได้ แม้จะทานขนมหวานก็ตาม
ใยอาหารช่วยป้องกันโรคหัวใจ
มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า การบริโภคใยอาหารมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและอัมพฤกษ์ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะใยอาหารมีส่วนช่วยในการลดไขมันในเลือดและช่วยลดความดันโลหิตได้
การบริโภคเนื้อมะพร้าวช่วยลดไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ลดไตรกลีเซอไรด์ และช่วยเพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) จึงทำให้ค่าไขมันรวมหรือคอเลสเตอรอลโดยรวมดีตามไปด้วย
นอกจากเนื้อมะพร้าวจะช่วยในเรื่องไขมันแล้ว ยังมีประสิทธิภาพเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทุกชนิดรวมถึงโรคไขมันอุดตันเส้นเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและอัมพฤกษ์ทั่วโลก
เนื้อมะพร้าวช่วยถ่ายพยาธิ
คุณสมบัติพิเศษของใยอาหารจากมะพร้าวที่หาไม่ได้ในใยอาหารชนิดอื่น คือ ประสิทธิภาพในการถ่ายพยาธิ ซึ่งมีการบันทึกไว้ในตำราแพทย์แผนอินเดียหรือแผนแพทย์อายุรเวท ในปี ค.ศ. 1936 และ 1976
ในปี 1984 มีการวจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของมะพร้าวในการถ่ายพยาธิ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นคนอินเดียในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีพยาธิตตัวตืดในร่างกาย จากการบริโภคเนื้อดิบหรือปรุงไม่สุก ได้ผลการทดลองเป็นดังนี้
การบริโภคเนื้อมะพร้าวแห้ง จำนวน 200 กรัม สามารถถ่ายพยาธิตัวตืดได้ถึง 90% ภายในเวลา 12 ชั่วโมง
การบริโภคเนิ้อมะพร้าวสด จำนวน 400 กรัม สามารถถ่ายพยาธิตัวตืดได้ถึง 60% ภายในเวลา 12 ชั่วโมง
สรุปคือเนื้อมะพร้าวแห้งมีประสิทธิภาพถ่ายพยาธิตัวตืดได้ดีกว่าเนื้อมะพร้าวสด อย่างไรก็ตาม ถ้าเราทราบแบบนี้แล้ว ท่านใดที่ทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก อย่างเช่น ปลาดิบ ก็ควรบริโภคเนื้อมะพร้าวเป็นประจำ เพื่อช่วยในการถ่ายพยาธิชนิดต่างๆ
ใยอาหารช่วยดูดซึมเกลือแร่เข้าสู่ร่างกาย
ธัญพืชเป็นอาหารที่มีในอาหารสูง แต่มีข้อเสีย คือ การบริโภคธัญพืชที่มากเกินไปจะส่งผลให้ร่างกายได้รับกรดไฟติค (Phytic Acid) ซึ่งจะไปจับตัวกับเกลือแร่บางชนิดในระบบทางเดินอาหาร เช่น เหล็ก แคลเซียม สังกะสี และอาจส่งผลให้ร่างกายขาดเกลือแร่เหล่านี้ได้
วิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่ดีที่สุด คือ การบริโภคใยอาหารจากมะพร้าวเพิ่มเติม กล่าวคือ บริโภคธัญพืชลดลงเล็กน้อยและเพิ่มการบริโภคใยอาหารจากมะพร้าวทดแทน เพื่อเพิ่มการดูดซึมเกลือแร่ที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย
น้ำมะพร้าว
น้ำมะพร้าว น้ำแห่งชีวิต
น้ำมะพร้าวมีลักษณะใส รสออกหวาน เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั้งโลกเพราะมีรสอร่อย ประกอบไปด้วยวิตามินและเกลือแร่หลายชนิด เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม (ถ้าเราเคยซื้อน้ำมะพร้าวบรรจุขวดทาน จะเห็นข้อความว่ามีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสูง) มีโซเดียม โปรตีนและน้ำตาลเพียงเล็กน้อย โดยไม่มีไขมันอยู่เลย
มะพร้าวเป็นพืชที่เจริญเติบโตอย่างมากในเขตร้อน เกาะทุกเกาะไม่ว่าน้อยใหญ่จะมีต้นมะพร้าวเติบโตเสมอ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเกาะและหาน้ำจืดดื่มลำบาก ก็ใช้น้ำมะพร้าวดื่มทดแทนเพื่อแก้กระหายได้ น้ำมะพร้าวจึงได้ชื่อว่าเป็น น้ำแห่งชีวิต
น้ำมะพร้าวมีคุณสมบัติในการแตกตัวเป็นไอออนได้ดีและมีเกลือแร่ที่คล้ายกับน้ำเลือดหรือพลาสม่าของคน จึงสามารถให้น้ำมะพร้าวผ่านทางเส้นเลือดดำเหมือนกับการให้น้ำเกลือในคนไข้ที่มีอาการขาดน้ำหรือโพแทสเซียมได้ น้ำมะพร้าวจากผลสด ถ้านำออกมาอย่างถูกวิธีจะปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ เช่น แบคมีเรีย เชื้อรา สิ่งแปลกปลอมและสารปนเปื้อน
มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการให้น้ำมะพร้าวผ่านทางเส้นเลือดดำปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อเม็ดเลือดแดง ไม่ทำให้เกิดการแพ้ และสามารถให้ได้ในปริมาณมาก กล่าวคือ 25-33% ของน้ำหนักตัว โดยไม่มีผลแทรกซ้อนใดๆ
นอกจากน้ำมะพร้าวจะใช้ดื่มทดแทนน้ำธรรมดาได้เป็นอย่างดีแล้ว เกลือแร่ในน้ำมะพร้าวมีส่วนประกอบที่คล้ายกับน้ำเกลือหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ ที่ใช้บริโภคเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการออกกำลังกายอย่างหนักหรือภาวะท้องร่วง ดังนั้น น้ำมะพร้าวจึงเหมาะสำหรับดื่มเพื่อชดเชยการสูญเสียเกลือแร่ได้เป็นอย่างดี และได้ชื่อว่าเป็น “เกลือแร่แก้ท้องร่วง” และ “เครื่องดื่มเกลือแร่จากธรรมชาติ”
ควบคุมระดับไขมันในเลือดหรือคอเลสเตอรอล
น้ำมันมะพร้าวเป็นมากกว่าเครื่องดื่มเกลือแร่หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่ยังเป็นยาบำรุง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวส่งผลดีต่อระดับไขมันในเลือด ในการศึกษาครั้งหนึ่งพบว่า ช่วยให้ไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้น 46.2% และไขมันทีตับลดลง 26.3% ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสียงของโรคหลอดเลือดแข็งและตีบตันได้ถึง 41.1%
ระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์
เป็นที่ทราบกันมาอย่างยาวนานแล้วว่า น้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ในการรักษาระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เพราะช่วยกำจัดเชื้อโรคในกระเพาะปัสสาวะ ลดและกำจัดนิ่วในไต และช่วยให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น งานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า การบริโภคน้ำมะพร้าวเป็นประจำมีประสิทธิภาพมากในการละลายนิ่วในไต
คุณหมอแมคคาลาแลก (Dr.Macalalag) แห่งโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนประเทศฟิลิปปินส์ ได้กล่าวว่า น้ำมะพร้าวได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการรักษาต่อคนไข้ที่มีปัญหานิ่วในไตและนิ่วในทางเดินปัสสาวะ คนไข้ของหมอสามารถที่จะหยุดการรักษาในแบบแผนปัจจุบันได้ หลักจากที่ดื่มน้ำมะพร้าวเป็นประจำ
การบริโภคน้ำมะพร้าวเพียงสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง พบว่าสามารถลดขนาดของนิ่วในไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
น้ำมะพร้าวเป็นยาขับปัสสาวะจากธรรมชาติ ซึ่งช่วยให้ปัสสาวะไม่ข้น เป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วและการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
น้ำมันมะพร้าวอ่อนขึ้นชื่อในเรื่องของการบำรุงระบบสืบพันธุ์ ช่วยให้อารมณ์ทางเพศมีความสมบูรณ์ มีรายงานว่าสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หลังจากบริโภคน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นประจำ จะช่วยให้มีอารมณ์ทางเพศที่ดีขึ้น
ยาถ่ายจากธรรมชาติ
สิ่งหนึ่งทีควรระวังในการดื่มน้ำมะพร้าว คือ หากดื่มมากเกินไปจะทำให้มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายหรือทำให้ท้องเสียได้ ร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ปริมาณที่เหมาะสมของการบริโภคน้ำมะพร้าวจึงแตกต่างกัน ในกรณึของผู้ที่มีอาการท้องผูก การดื่มน้ำมะพร้าวมากๆจะช่วยให้ระบายและขับถ่ายดีขึ้น
กะทิหรือนมมะพร้าว
กะทิที่ได้จากการคั้นหรือสกัดจากเนื้อมะพร้าว อุดมไปด้วยไขมันและโปรตีน (แตกต่างจากน้ำมะพร้าวที่แทบจะไม่มีไขมันหรือโปรตีนเลย) กะทิมีเนื้อสีขาวข้น คล้ายนมวัว โดยเฉลี่ยจะมีปริมาณไขมัน 17-24% ซึ่งอาจจะมีปริมาณไขมันมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่ปริมาณน้ำมี่ผสมในกระบวนการผลิต กะทิที่มีน้ำน้อยจะมีปริมาณไขมันมาก ความเหนียวข้นจะมีมากขึ้น จนมีเนื้อเป็นครีมได้
กะทิไม่มีความหวาน นั่นคือไม่มีน้ำตาล ต่างจากน้ำมะพร้าวที่มีความหวาน ซึ่งหมายถึง มีส่วนประกอบของน้ำตาลธรรมชาติเล็กน้อย อย่างที่ทราบกันดี กะทิเป็นวัตถุดิบยอดนิยมในการทำอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ เราจึงพบกะทิได้ในอาหารหลายประเภท เช่น ต้มยาน้ำข้น แกงเขียวหวาน แกงพะแนงเมื้อ แกงมัสมั่น เป็นต้น
ประโยชน์ของกะทิจะคล้ายกับน้ำมันมะพร้าว เพราะมีส่วนประกอบเป็นไขมันในปริมาณสูง เราสามารถใช้น้ำกะทิหมักผม เพื่อบำรุงเส้นผม หนังศีรษะและกำจัดรังแค ใช้ทาผิวเพื่อบำรุงผิวให้ผิวสวยสุขภาพดี หรือจะใช้ทาแผลมีดบาด แผลไฟไหม้หรือผิวไหม้จากแสงอาทิตย์ก็ได้
อย่างไรก็ตาม การบริโภคกะทิแบบสดๆเหมือนการดื่มนมวัวไม่เป็นที่นิยม เพราะรสชาติของกะทิที่อาจจะไม่ถูกปากใครหลายคน หรือจะใช้ทาผิวก็ไม่ค่อยจะได้เห็นมากนัก เพราะความเหนียวเหนอะหนะที่มีมากกว่าการทาผิวด้วยน้ำมันมะพร้าว
ประโยชน์ของกะทิที่มีมากกว่าน้ำมันมะพร้าวคือ น้ำกะทิสามารถสกัดและนำมาบริโภคได้ง่ายกว่า เพียงแค่เรานำเนื้อมะพร้าวมาบด ผสมน้ำ ใส่ผ้าขาวบางก็คั้นน้ำกะทิมาใช้ได้แล้ว ต่างจากสกัดน้ำมันมะพร้าวที่ต้องใช้เครื่องจักรและมีกระบวนการที่ยากกว่า
กะลามะพร้าว
กะลามะพร้าวจัดเป็นส่วนที่มีความแข็งแรงที่สุดในลูกมะพร้าว ถ้าเราเปรียบเทียบมะพร้าวเป็นถั่ว กะลามะพร้าวก็เปรียบเทียบได้กับเปลือกถั่วนั่นเอง เราไม่สามารถนำกะลามะพร้าวมาใช้บริโภคได้ แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
ใช้กะลามะพร้าวทำสินค้าหัตถกรรม
เนื่องจากความแข็งแรงบวกกับสีน้ำตาลที่ดูสวยงามและเป็นธรรมชาติ กะลามะพร้าวจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างงานหัตถกรรมหรืองานฝีมือได้หลากหลาย ตามความคิดสร้างสรรค์ เป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประดิษฐ์คิดค้นงานฝีมือชิ้นนั้นๆ
งานฝึมือที่ทำจากกะลามะพร้าวที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
ถ้วย
กระดุม
รังนก
โมบายแขวน
ช้อน ส้อม
กระบวยตักแกง ตักน้ำ
กระถางปลูกต้นไม้แบบแขวน
เครื่องประดับ
ใช้กะลามะพร้าวทำถ่านกัมมันต์
ถ้าพูดถึงชื่อ ถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon หรือ Activated Charcoal) หลายท่านอาจมีความสงสัยว่าคืออะไร? แต่ถ้าผู้เขียนใช้คำว่า “ถ่านดับกลิ่น” หรือ “ถ่านดูดพิษ” ผู้อ่านส่วนมากน่าจะคุ้นเคยกับคำเหล่านี้มากกว่า
เมื่อเรานำกะลามะพร้าวไปเผา เราจะได้ถ่านหรือคาร์บอน ที่มีเนื้อพรุนหรือมีรูเล็กๆในเนื้อจำนวนมาก ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับกลิ่น สารพิษหรือสารเคมีต่างๆ ถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวมีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถนำไปใช้ได้ในผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น หน้ากากกันแก๊สพิษ เครื่องกรองน้ำ เครื่องกรองอากาศหรือแม้แต่ใช้เป็นยาดูดซับสารพิษในทางการแพทย์
คุณสมบัติในการดูดสารของถ่านกัมมันต์เกิดจากรูเล็กๆจำนวนมากในเนื้อของถ่าน ซึ่งเกิดจากการเผากะลามะพร้าวในอุณหภูมิ 900-1,260 องศาเซลเซียส ในเวลาที่นานพอ เสร็จแล้วนำถ่านที่เผาแล้วไปผ่านไอน้ำ เพื่อไล่สารที่ระเหยได้ง่ายออกจากถ่าน จากนั้นก็นำถ่านไปบดเป็นผงเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆต่อไป
สรุป
ทุกส่วนของมะพร้าวมีประโยชน์หรือมีคุณูปการต่อมนุษย์ เนื้อมะพร้าวที่มีใยอาหารสูง ช่วยในการลดน้ำหนักและดูแลลำไส้ น้ำมะพร้าวมีเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ใช้ดื่มแทนน้ำเปล่า ทดแทนผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อมากหรือท้องเสียได้ กะทิมีกรดไขมันอิ่มตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณสูง กะลามะพร้าวสามารถนำไปทำเครื่องประดับและภาชนะใส่อาหารและน้ำ เมื่อนำไปเผาแล้วจะกลายเป็นถ่านกัมมันต์ ที่สามารถใช้ดูดซับกลิ่นและสารพิษได้
ในหลายประเทศการจะหามะพร้าวสักลูกมาบริโภคเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก คนไทยโชคดีที่มีมะพร้าวให้บริโภคได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น เรามีของดีอยู่แล้วจงใช้ของดีให้เป็นประโยชน์ด้วยการบริโภคมะพร้าวกันวันละลูก เพื่อสุขภาพที่ดีแบบธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ยาเคมี